บางกอก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ลิเก กำลังเสื่อมความนิยม มหรสพใหม่ที่เรียกกันว่า "ภาพยนตร์" หรือ "หนัง" กำลังเป็นที่จับตามอง แม้ในแง่กลุ่มคนดูจะไม่ได้แย่งกันอย่างเด่นชัด แต่ในแง่ศักดิ์ศรีของความเป็นมหรสพพื้นบ้านที่สืบสานต่อกันมาจนเป็นมรดกของชาติ บัดนี้กลับถูกมหรสพต่างชาติรุกราน
เมื่อ วิกลิเกต้นไทร ท้ายวัดสระเกษ วิกลิเกที่ยอมรับกันว่ามีคนดูอยูในอันดับต้น ๆ ของบางกอก เพราะติดใจในเรื่องราวที่ผูกขึ้นมาไม่ซ้ำใคร และลีลาของบุญเท่ง (เท่ง เทิดเถิง) กับลิ้นจี่ (ฝ้าย- อิสรีย์ สงฆ์เจริญ) คู่พระนางสายเลือดแท้ ๆ ของ นายแดงเจ้าของวิก (อุดม ชวนชื่น) ทำให้วิกลิเกแห่งนี้ยังคงสร้างความสำราญอยู่ได้
จนมีจดหมายจากทางการขอความร่วมมืออำนวยความสะดวกให้ กองถ่ายภาพฉายหนังเรื่อง "นางสาวสุวรรณ" กำลังจะมาใช้สถานที่ซึ่งมีต้นไทรและภูเขาทองมองเห็นเป็นเบื้องหลัง โดยจำเป็นต้อง รื้อวิก บุญเท่งและ ชาวคณะ (นุ้ย ชวนชื่น, กิ๊บ โคกคูน) ไม่ยอมถึงกับประกาศกร้าวให้ "สยามต้องเลือกว่าถ้ามีนางสาวสุวรรณต้องไม่มีลิเกต้นไทร" แน่นอน สยามเลือกนางสาวสุวรรณ
การต่อต้าน ขัดขวาง ทุกรูปแบบจึงได้เริ่มขึ้น โดยมีน้อยโหน่ง (โหน่ง ชะชะช่า) นักเลงคุมถิ่นที่มาติดพันลิ้นจี่น้องสาวบุญเท่งเข้าร่วมด้วย เรื่องราวคงจบลงโดยง่าย ถ้านางเอกที่แสดงเป็นนางสาวสุวรรณ ไม่ใช่คนเดียวคนนั้นที่บุญเท่งเฝ้าฝันถึง.... เธอชื่อ นวลจันทร์ (นิกัลยา ดุลยา)
บุญเท่งกลายเป็นตัวแทนของลิเก ส่วนนวลจันทร์ก็กลายเป็นตัวแทนของหนังเรื่องนางสาวสุวรรณไปโดยปริยาย "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดกองถ่ายหัวใจให้นวลจันทร์" คือคำพูดที่ใกล้เคียงสุด บุญเท่ง ต้องเลือกระหว่างชาวคณะลิเกกับนวลจันทร์ ส่วนน้อยโหน่งยังไงก็เลือกลิ้นจี่อยู่แล้ว แต่ถ้าการขัดขวางนี้ไม่สำเร็จความรักของเขาก็หมดอนาคตด้วย เรื่องราวของความรัก บนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นศิลปิน บุญเท่งและน้อยโหน่งจำต้องทำตัวเป็นนักเลง