นายขนมต้ม (ภาณุทัต รัตนไตร) ลูกชายของนายเกิดและนางอี่ ชาวบ้านกุ่ม แขวงขุนเสนา มีพี่สาวชื่ออีเอื้อย ทั้งสามถูกพม่าฆ่าตายตั้งแต่ขนมต้มยังเด็ก จึงอาศัยอยู่กับหลวงตาคง (เล็ก เฉยสวัสดิ์)วัดปีกกาจนเติบใหญ่ นายขนมต้มถูกอ้ายดำรังแก แต่มี ชายนิรนาม (ดามพ์ ดัสกร) ช่วยไว้ ทำให้ขนมต้มเห็นคุณค่าของแม่ไม้มวยไทย จึงขอร้องให้ชายนิรนามสอนให้แต่ถูกปฏิเสธ
นายสอน (ไกร ครรชิต) และ อ้ายดำ ขอท้ามวยกับชายนิรนาม ถึงสองครั้งสองคราแต่ถูกปฏิเสธ ขนมต้มขอสู้กับอ้ายดำและเป็นฝ่ายชนะ นายสอนผู้เป็นพ่อจึงขอแก้มือ และทำให้รู้ว่า ชายนิรนามคือคนที่เขาตามหา หวังให้ร่วมรับศึกกับพม่า ทำให้ทั้งหมดร่วมใจกันคิดสู้พม่า และหลังจากนั้น ขนมต้มกับอ้ายดำ ก็เป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่นั้นมา
จากนั้น ขนมต้มได้ลาหลวงตาคง เดินทางร่วมกับอ้ายดำไปป่าโมก เพื่อฝึกวิชามวยเพิ่ม โดยขนมต้มไปอาศัยอยู่กับ ทองอยู่ (นิวัติ พิบูลย์ศิริ) และนางยมซึ่งเป็นญาติ ขณะที่อ้ายดำไปหาครูเสา (มีศักดิ์ นาครัตน์)
ข่าวข้าศึกพม่าประชิดกรุงศรีฯ และจะมีทัพพม่าผ่านทางป่าโมก พันเพชร (ยอดชาย เมฆสุวรรณ) กับ ครูสุก (สมชาติ ประชาไทย) ได้วางแผนดัน อ้ายเปลว (สุเมธ อ่อนนวล) เป็นนายทัพ โดยเรียกครูเสากับทองอยู่มาประชุม ครูเสาได้ต่อว่าครูสุก ที่ให้อ้ายเปลวออกไปรบกับพม่า โดยไม่ให้พวกตนไปด้วย ครูสุกบอกว่าพวกครูเสาเป็นเพียงทัพหลัง หาใช่ดั่งอ้ายเปลว ที่เป็นเหมือนนายทัพ และกล่าวว่าหากคิดว่ามีฝีมือดีก็ลองดู...
วันต่อมา อ้ายดำและ อ้ายเทียบ (เฉลิมชัย สายทอง) นำพวกแอบซุ่มโจมตีฆ่าพม่าได้ยี่สิบคน แต่อ้ายดำได้รับบาดเจ็บ ครูสุกจึงมีความโกรธแค้น ที่อ้ายดำและอ้ายเทียบพร้อมพรรคพวก ทำได้เช่นเดียวกับอ้ายเปลว อีกทั้งทราบข่าวว่า ขนมต้มกับออนุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายสอดแนม กำลังเดินทางไปกรุงศรีฯ จึงตามไปดักรอในป่าที่โพงเพง เมื่อประจันหน้ากันแล้ว ครูสุกได้ใช้แม่ไม้มวยไทยกับขนมต้มจนได้รับบาดเจ็บ และฆ่าออนุ่นตาย เหตุเพราะต้องการทราบว่า ขนมต้มเรียนแม่ไม้มวยไทยมาจากใคร เพราะคนๆ นั้นคือคนที่ครูสุกตามหาอยู่ อีกทั้งหมายจะฆ่าขนมต้มด้วย แต่ชายนิรนามมาช่วยไว้ทัน
เมื่อทุกคนทราบว่า ครูสุกดักทำร้ายขนมต้มและฆ่าออนุ่นตาย จึงมีความโกรธแค้นและยกพวกมาจับครูสุก ครูสุกขัดขืนและหนีไป ส่วนอ้ายเปลวโดนจับและกักตัวไว้ แต่ จั๊กกะจั่น (บุญธิดา นาคเจริญ) แอบมาช่วยให้อ้ายเปลวหนีไป
หลังจากทุกคนทราบว่า ครูสุกและอ้ายเปลวหักหลังคนไทยด้วยกัน โดยอ้ายเปลวนำทัพพม่าบุกป่าโมก จึงให้ขนมต้มกับอ้ายมิ่งขึ้นกรุงศรีฯ ขออาวุธและทหารมาช่วย แต่ระหว่างทาง เจอครูสุกดักรอขอประลองมวย ครูสุกแพ้จึงคิดใช้ดาบฆ่าขนมต้ม แต่ชายนิรนามมาช่วยไว้ทัน และฟันครูสุกคอขาดกระเด็น จากนั้นทั้งสองจึงเดินทางต่อ แต่ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
ฝ่ายป่าโมก โดนพม่าซึ่งมีอ้ายเปลวเป็นคนนำทัพโจมตี ทำให้นายสอน, ครูทองอยู่, ครูเสา, จั๊กกะจั่น, มะขาม, อ้ายดำ ตายสิ้น รวมทั้งพันเพชรด้วย ทำให้อ้ายเปลวเกิดความละอายใจ และด้วยความแค้น จึงวิ่งไล่ฆ่าพม่าและคนไทยด้วยกันโดยไม่ยั้งคิด กรรมตามสนองอ้ายเปลวคนขายชาติ มังทอคะยา (อาคะเน บุญเกิด) สั่งจับอ้ายเปลวเป็นเชลย รวมกับคนไทยคนอื่นด้วย
ที่ค่ายกักกัน มีการเกณฑ์เชลยไทยมาสร้างเจดีย์หลวง ตามความประสงค์ของพระเจ้ามังระ (ครรชิต ขวัญประชา) ขนมต้มกลายเป็นเชลยศึก และเมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ จากอ้ายโตจึงเกิดความเดือดดาล เมื่อเจอกับอ้ายเปลว ทั้งคู่จึงต่อสู้กันด้วยลีลาแม่ไม้มวยไทย แต่ มังสุรนาถ (สมเกียรติ พัฒนทรัพย์) มาห้ามไว้และกล่าวว่า เหตุใดคนไทยจึงชอบมีเรื่องวิวาทกัน และสั่งให้ทั้งสองสู้กัน หากใครแพ้จะถูกบั่นหัวเสียบประจาน ผลออกมาขนมต้มเป็นฝ่ายชนะ เพื่อไม่ให้เป็นการขายหน้าแผ่นดินไทย ขนมต้มจึงต่อยอ้ายเปลวจนตาย ตายด้วยน้ำมือคนไทยด้วยกัน ดีกว่าถูกพม่าบั่นคอเสียบประจาน
ตราบจนถึงวาระที่พระเจ้ามังระจัดฉลองพระเจดีย์ จึงได้มีพระราชโองการให้เบิกตัวนายขนมต้มจากที่คุมขัง มาแสดงฝีมือมวยไทยหน้าพระที่นั่ง โดยมีเดิมพันว่า หากขนมต้มแพ้จะถูกบั่นคอ แต่หากชนะขนมต้มประสงค์สิ่งใดก็ทูลขอได้ การต่อสู้มวยไทยของขนมต้ม เป็นไปตามลีลาแม่ไม้มวยไทยที่เป็นต้นตำรับขนานแท้ จนเอาชนะพม่าได้ถึงสิบคน ในเวลาเพียงกะลายังไม่จมน้ำ
พระเจ้ามังระทรงให้รางวัลแก่ขนมต้ม เป็นนางสนมถึงสองคนเพื่อไปทำเมีย แต่ขนมต้มปฏิเสธและทูลขอให้พระเจ้ามังระ ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่คนไทยได้เป็นอิสระ ไม่ตกเป็นเชลยของพม่าอีกต่อไป พระเจ้ามังระเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ทรงปลดปล่อยคนไทยเป็นอิสระจากการตกเป็นเชลยศึกของพม่า และทรงตรัสชมขนมต้มว่า "คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้"