จูหลิง ปงกันมูล หญิงสาวชาวพุทธจากเชียงราย ครูสอนศิลปะช่างฝัน ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ความรักในแผ่นดินและเพื่อนมนุษย์ นอนจมกองเลือดท่ามกลางของเล่นที่ตกกระจายบนพื้นโรงเรียนอนุบาลประจำหมู่บ้านมุสลิมเล็ก ๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องโหดร้ายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ วุฒิสมาชิกและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกเดินทางค้นหาคำตอบ ทั้งในภาคใต้ ในกรุงเทพ และขึ้นเหนือไปยังหมู่บ้านของพ่อแม่ครูจูหลิงที่เชียงราย ระหว่างทางเขาได้รับฟังความทุกข์จากคำเล่าของผู้สูญเสียทั้งที่เป็นชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าสิ่งที่ปรากฎนั้นเป็นเรื่องเศร้า และสารคดีเรื่องนี้ดูจะหาตอนจบที่สุขสันต์อย่างภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนิยายไม่ได้ แต่จิตวิญญาณของคนไทยทุกคนใน พลเมืองจูหลิง ซึ่งสุดท้ายแล้วพร้อมเสมอที่จะให้อภัย คือความงดงามที่น่าพิศวง
พลเมืองจูหลิง ไม่ได้เป็นเพียงการสืบสวนเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น สารคดีไม่ธรรมดาเรื่องนี้ พาเราขึ้นเหนือล่องใต้ลงลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของความเป็นไทย ซึ่งบางครั้ง อาจแปลกประหลาดเกินความคาดหมาย ตั้งแต่ฉากแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 9 มิถุนายน 2549 ท่ามกลางพลเมืองที่จงรักภักดีและปลื้มปีติ ถึงฉากสุดท้าย ท่ามกลางฝูงชนที่กำลังเฉลิมฉลองรถถังและทหารที่ทำการรัฐประหาร 19 กันยายน โดยไม่ได้คาดหมาย การถ่ายทำ พลเมืองจูหลิง ได้กลายเป็นการบันทึกบรรยากาศของสี่เดือนสุดท้ายภายใต้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เข้มข้นมากในอารมณ์และความรู้สึก
โรงภาพยนตร์ House RCA เท่านั้น