เป็นกระแสฮือฮาที่เรียกได้ว่าน่าจับตาที่สุดกับ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี” ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของไทยที่ทุกคนเฝ้ารอคอยมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของศึกคชยุทธ์มหาสงครามที่มีแผ่นดินเป็นเดิมพัน อย่างศึก “ยุทธหัตถี” การสัประยุทธ์บนหลังช้างที่ได้รับการเล่าขานมากว่า4ศตวรรษกำลังจะเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนทั้งโลกครั้งแรก แค่เฉพาะฉากนี้ฉากเดียวใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 1 ปี เต็ม ที่ ท่านมุ้ย หรือ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ และที่ปรึกษาทางประวัติศาสตร์ พร้อมทีมงานศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากพงศาวดาร หลักฐานเอกสารโบราณทั้งใน และต่างประเทศ ก่อนที่จะเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการสันนิษฐานว่า คือ จุดที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำศึกยุทธหัตถีอันลือลั่น กับพระมหาอุปราชา รวมไปถึงการวิเคราะห์สร้างสมมติฐาน ในการที่จะเนรมิตภาพในอดีต 422 ปี มาเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกลงบนแผ่นฟิล์ม
ในขณะที่ฝ่ายออกแบบเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย ทำงานอย่างหนักกับการออกแบบเครื่องทรงชุดเกราะที่สวมใส่ในการทำการศึก, อาวุธยุทโธปกรณ์, ลักษณะท่วงท่า ที่ใช้ในการต่อสู้ และรบบนหลังช้าง นักแสดงหลักทั้ง 5 คน ผู้พันเบิร์ด หรือ พันโท วันชนะ สวัสดี (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช), ตั๊ก นภัสกร มิตรเอม (พระมหาอุปราชา), เสธ.ต๊อด พันเอก วินธัย สุวารี (สมเด็จพระเอกาทศรถ), ชลัฏ ณ สงขลา (มังจาปะโร) และ ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ (ไอ้ขามนายคชบาลผู้ควบคุมเจ้าพระยาปราบหงสาวดีช้างศึก ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ที่จะต้องเข้าฉากถ่ายทำการรบบนหลังช้าง ต้องผ่านพิธีบวงสรวงสำคัญ และศึกษาถึงวิธีการที่จะต้องควบคุมช้าง รวมไปถึงการฝึกใช้ง้าวในการทำสัประยุทธ์บนหลังช้างก่อนการถ่ายทำจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่จะเอาช้างสองเชือกมาต่อสู้ปะทะกัน ซึ่งกว่าจะลงตัวก็ทำให้ ตั๊ก นภัสกร ถึงกับหน้ามืดเลยทีเดียว
“มันไม่ง่ายเลยครับ แค่เฉพาะชุดเกราะนกยูงของพระมหาอุปราชา รวมง้าวด้วยนี่น้ำหนักก็ประมาณ 30 กิโลได้ครับ ใส่ตั้งแต่เช้าจนเย็นไม่ถอดครับ ชุดเกราะเราต้องเย็บทีละแผ่นให้เป็นชุด เครื่องทรงช้างที่เป็นเกราะก็เช่นกันก็ต้องเย็บทีละแผ่น ทุกครั้งที่เข้าฉากที่ต้องต่อสู้กันก็จะมีการร่วงทีละชิ้น เราก็ต้องไปซ่อมเย็บอีก เพราะเวลาต่อสู้ปะทะกันโดยอาวุธโดนเกี่ยวจริงครับ แล้วยิ่งเป็นการถ่ายทำที่เป็นการต่อสู้บนหลังช้าง ช้างนี่เป็นปัญหาหนักที่สุด คือ ต้องปรับท่าหรือทำให้จังหวะของช้างกับคนสัมพันธ์กัน แถมในฉากรบเราต้องใช้ง้าวในการต่อสู้ ต้องวาดง้าวต่อสู้บนหลังช้างนานกว่า10ชั่วโมงต่อวัน ทุกอย่างยากไปหมดเลย ที่สำคัญง้าวของผมหนักกว่าของเบิร์ดเท่าหนึ่งเพราะหงสาฯทุกอย่างต้องวิจิตรลวดลายต่างๆค่อนข้างเยอะมาก ดีที่เราได้มีการเรียนฝึกซ้อมง้าวกันมาก่อนแล้ว จำได้ว่าทุกวันที่ถ่ายต้องยกมือขอแรงให้ลูกอีกทีๆๆ จนหมดแสง อีกวันกลับมาถ่ายใหม่อีกอยู่อย่างนี้ ตอนนั้นมันเหนื่อยมากเหงื่อเข้าตาทุกวัน”
เพราะเป็นฉากใหญ่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน รวมถึงท่านมุ้ยให้ความพิถีพิถันใส่ใจในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงให้ความสำคัญกับหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ภาพยุทธหัตถีออกมาสมจริงที่สุด ถือได้ว่าเป็นฉากที่ยากที่สุดของภาพยนตร์ โดยมีการแบ่งกระบวนการในการถ่ายทำเฉพาะฉากนี้ ออกเป็นขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การถ่ายทำเฉพาะในส่วนของนักแสดงหลักทั้ง 5 คน ที่ต้องเข้าฉากพร้อมกับช้างและนักแสดงสมทบซึ่งเป็นนายทหาร ทั้งฝั่งอโยธยา และหงสาวดี ที่อยู่รายล้อมรอบช้างในระหว่างการทำศึกหลายพันชีวิต, การถ่ายทำเฉพาะการสัประยุทธ์ ระหว่างสมเด็จพระนเรศวร กับพระมหาอุปราชา และสมเด็จพระเอกาทศรถ กับมังจาปะโร ร่วมกับช้างม้าศึกนับไม่ถ้วน และสุดท้ายเป็นการถ่ายทำเพื่อรองรับกับการใช้เทคนิคพิเศษในส่วนของซีจี (คอมพิวเตอร์กราฟฟิก) เพื่อนำไปสร้างความสมบูรณ์ให้กับรายละเอียดของฉากและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ออกมาลงตัวที่สุด เรียกได้ว่าทุกขั้นตอนล้วนแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ และความตั้งใจทุ่มเทของทุกชีวิตที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พันเบิร์ด ที่รู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่พูดถึงโปรเจ็คต์ภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่จะอยู่ในใจของเขาตลอดไป
“ สำหรับหนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี ถ้าให้นับน่าจะมีสัก 300 คิวได้ ความน่าสนใจที่เราจะได้เห็นในศึกยุทธหัตถีที่เป็นช้างชนกัน เป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่เขียนขึ้นมา ผสมกับการถ่ายทำที่เป็นของจริงบนแผ่นฟิล์ม เราจะได้เห็นภาพของการจำลองเหตุการณ์ที่เราเคยเรียนเคยได้ยินกันมา จะได้เห็นฉากยุทธหัตถี ที่ผมเชื่อว่าเป็นความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ ที่อยากเห็นการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของการที่มีช้างชนกันลงบนแผ่นฟิล์มเป็นครั้งแรก ศึกครั้งนี้เป็นการยุทธ์ที่ถ้าพระมหาอุปราชามีชัยชนะเหนือพระนเรศวร มันจะเป็นการตอกย้ำในความเป็นเมืองขึ้นของอโยธยาต่อไปแน่นอน แต่ถ้าพระนเรศวรรบชนะพระอุปราชาจะเป็นการตอกย้ำความเป็นเอกราชที่มันจะยืนยาวต่อไป เราจะได้เห็นการยุทธ์ที่ใช้ช้างชนกัน ความเป็นสุภาพบุรุษในการรบของขุนศึก ที่ปล่อยให้พระมหากษัตริย์สองพระองค์รบกัน ถ้าเราต้องสร้างภาพยนตร์เรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชฉากนี้จะขาดไม่ได้ เรามีการเตรียมตัวกันนานมาก ก่อนที่จะใช้ง้าวบนหลังช้างได้ ต้องมีอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญมาบวงสรวงและสอนรำง้าวให้ ผมจะต้องรำง้าวให้ถูกต้องตามประเพณีโบราณ ผมต้องรำต่อหน้าช้าง 10 กว่าเชือก จุดธูป ทุกคนต้องแต่งกายชุดในหนังเลย ช้าง ควาญช้างแต่งชุดหมด ผม, พี่ตั๊ก (นภัสกร), พี่ต๊อก (ศุภกรณ์), หนึ่ง (ชลัฏ) 4 คนที่ต้องทำยุทธหัตถีกัน รำบวงสรวง รำง้าวคือทำจริง เพื่อต้องการให้ถูกต้องตามประเพณี และต้องการให้เกิดความปลอดภัยในการถ่ายทำ ต้องการให้สมพระเกียรติของทั้ง 4 พระองค์ที่เกิดขึ้น เราซักซ้อม ตั้งใจจนเชี่ยวชาญทั้งการขี่ช้าง การต่อสู้โดยใช้ง้าว ซึ่งใช้เวลา 1 ปีเต็ม เพื่อให้ฉากยุทธหัตถีสมจริงถูกต้องที่สุด ในภาพยนตร์เรื่องนี้คุณลืมได้หรือละเลยรายละเอียดได้ แต่คุณไม่ควรลืมประวัติศาสตร์ของชาติเรา สำหรับผมนอกจากไม่ลืมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ผมก็จะไม่ลืมประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วยครับ”
29 พฤษภาคม ประกาศเกียรติก้องไปทั่วปฐพีกับ
ศึกคชยุทธ์แห่งประวัติศาสตร์
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี ทุกโรงภาพยนตร์