กล่าวได้ว่า “ปวีณ ภูริจิตปัญญา” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้มีแนวทางที่ชัดเจนในการทำหนังมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เห็นได้จากตั้งแต่ช่วงเริ่มทำหนังสั้นสมัยเป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง “พลาด” หรือ “Antiseptic” ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวในด้านการเล่าเรื่อง, การตัดต่อ และที่สำคัญคือ ด้านเทคนิคพิเศษ (Visual Effects)
เทคนิคพิเศษในงานของปวีณ ถือเป็นลายเซ็นที่ติดตัวเขามาจนถึงวันที่ได้กำกับภาพยนตร์เพื่อฉายโรง ได้แก่ บอดี้ ศพ#19, สี่แพร่ง ตอน “ยันต์สั่งตาย” และ ห้าแพร่ง ตอน “หลาวชะโอน” โดยเรื่องหลังนี้ปวีณได้ก้าวไปอีกขั้นของการใช้เทคนิคพิเศษในการสร้างภาพยนตร์ นั่นคือ การใช้เทคนิคพิเศษในการสร้างเปรตให้ผู้ชมเห็นอย่างชัดเจนและสมจริงผ่านภาพยนตร์ที่มีประเด็นเรื่อง “กรรม” จนกลายเป็นตอนที่ผมชอบที่สุดในบรรดา 5 ตอนของภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็ว่าได้
แต่เรื่องที่จะขอพูดถึงในที่นี้ คือผลงานชิ้นแจ้งเกิดของเขา นั่นก็คือ… “บอดี้ ศพ#19” (2007) ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทยแนว “Psycho-Horror” (จิตวิทยาเกี่ยวกับความสยองขวัญ) ของบ้านเราเลยทีเดียว อีกทั้งมันยังได้เข้าชิงรางวัลในสาขาต่าง ๆ มากมายหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง, เฉลิมไทยอวอร์ด หรือ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ที่เข้าชิงถึง 9 สาขา รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีด้วย สืบเนื่องจากหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะความโดดเด่นของตัวบทภาพยนตร์นี้เอง ที่เรียกได้ว่าเป็นของใหม่ในแวดวงภาพยนตร์ไทยอย่างที่ไม่ได้เห็นมานานในระยะหลัง ๆ มานี้
บอดี้ ศพ#19 เขียนบทโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (ผู้กำกับ “รักแห่งสยาม”) และ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ (ผู้เขียนบท “13 เกมสยอง”) สร้างและจัดจำหน่าย โดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด (GTH Co.,Ltd.) มีที่มาจากการนำ Keywords หรือ หัวข้อ (Content) ซึ่งเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ เรื่องหมอฆ่าเมีย มาสร้างสรรค์และแปรสภาพให้กลายมาเป็นธุรกิจบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์ได้อย่างชาญฉลาด เริ่มต้นจากการนำ Keywords มาขยายต่อเป็นโครงเรื่อง (Plot) และแตกเป็นประเด็น (Subject) ออกมาในรูปแบบหนังระทึกขวัญ-สยองขวัญจากต่างประเทศ โดยในแง่ของไอเดียหรือลักษณะการดำเนินเรื่องเช่นนี้ก็มีมานานแล้วในภาพยนตร์ Hollywood และไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด ซึ่งก็คือวิธีการเล่าเรื่องเพื่อหักมุมในตอนจบ (Twist Ending) นั่นเอง หนังจากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง “Identity” (James Mangold, 2003) น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับ บอดี้ ศพ#19 ในการเล่าเรื่องในลักษณะนี้ ที่สำคัญยังมีการนำเสนอในประเด็นเดียวกันด้วย นั่นคือ ภาวะผู้ป่วยโรคจิตเภท ซึ่งมีการเปลี่ยนบุคลิก, จิตใจ จากคนหนึ่งกลายเป็นอีกคนหนึ่ง หรือหลาย ๆ คน (Multiple Personalities) โดยเกิดจากบาดแผลภายใต้จิตสำนึก (Psychic trauma) เป็นตัวขับเคลื่อน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยเอื้อประโยชน์ต่อการนำเสนอแบบต้องคิดตามไปขณะรับชม แต่ในท้ายที่สุด บอดี้ ศพ#19 ก็สามารถหลอกผู้ชมได้อย่างสนิทใจตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง คือ การพาผู้ชมหลุดพ้นจากโลกความเป็นจริง (Escapism) นั่นเอง
“บอดี้ ศพ#19” จัดอยู่ในหมวดหมู่ภาพยนตร์ที่โดดเด่นด้านการเล่าเรื่อง (Narrative Function) และสร้างความตื่นตาตื่นใจ (Spectual Function) เป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน ด้านการสร้างอารมณ์ (Emotional Function) หรือ การใช้สติปัญญารับชมเพื่อนำมาวิเคราะห์ตามความสามารถของบุคคล (Intellectual Function) ก็เป็นสิ่งที่น่ากล่าวถึงไม่แพ้กัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการแสดงที่ลงตัวของอารักษ์ อมรศุภศิริ, กฤตธีรา อินพรวิจิตร, อรจิรา แหลมวิไล, ภัทรวรินทร์ ทิมกุล และ ปรเมศร์ น้อยอ่ำ อีกทั้งด้านเพลงและดนตรีประกอบก็คุมโทนของเรื่องไว้ได้แบบเอาอยู่ รวมถึงด้านเทคนิคพิเศษ การกำกับศิลป์ การแต่งหน้า การออกแบบงานสร้าง หรือ การลำดับภาพ ฯลฯ ก็ล้วนสอดรับกับเรื่องราวได้เป็นอย่างดีตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็ว่าได้
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อชลสิทธิ์ หรือ ชล (อารักษ์ อมรศุภสิริ) นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ {มีเอ๋ (อรจิรา แหลมวิไล) พี่สาวซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ พักอาศัยร่วมกันในบ้านหลังหนึ่ง} รู้สึกถึงเหตุการณ์แปลก ๆ หลังจากที่เขาฝันเห็นผู้หญิงคนหนึ่งถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ชลจึงไปพบกับหมอจิ๊บ (วัสนัย ภคพงศ์พันธ์) จิตแพทย์ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังเห็นผีมาหลอกเขาด้วย เอ๋จึงแนะนำให้ชลไปปรึกษากับหมออุษา (กฤตธีรา อินพรวิจิตร) จิตแพทย์ ซึ่งกำลังมีความสัมพันธ์อย่างระหองระแหงกับหมอสุธี (ปรเมศร์ น้อยอ่ำ) สามีของเธอ
เหตุการณ์ดำเนินไปจนกระทั่งชลเจอหลักฐานสุดท้าย คือ ตู้เก็บศพหมายเลข 19 ในโรงพยาบาล เมื่อชลเปิดออก กลับพบว่าในตู้นั้นคือศพที่มีใบหน้าเหมือนกับชล ... ชลก็คือสุธีที่ป่วยเป็นอาการบุคลิกวิปลาส (Depersonalization disorder) และเป็นคนฆ่าดาราราย (ภัทรวรินทร์ ทิมกุล) ผู้หญิงที่ชลฝันเห็นมาตลอดนั่นเอง ชลที่สุธีสร้างบุคลิกใหม่ขึ้นก็คือน้องชายของดารารายที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ส่วนเอ๋เป็นคนที่สุธีสมมติขึ้นให้มีบุคลิกเหมือนดาราราย
ก่อนที่ดารารายจะหมดสติด้วยฤทธิ์ยาที่หมอสุธีวางเพื่อหมายจะฆ่านั้น เธอได้ใช้การสะกดจิตสะกดด้วยเพลง “คิดถึงเธอทุกที…ที่อยู่คนเดียว” เมื่อหมอสุธีได้ฟังเพลงนี้จะเปลี่ยนบุคลิกเป็นชลในทันที หมอสุธีได้นำร่างของดารารายเข้ามาในบ้านร้างแห่งหนึ่งเพื่อล้างตัวและหั่นศพ แล้วนำไปทิ้งไว้ สุดท้ายสุธีหนีความผิดที่ตนก่อไม่พ้น ถูกจับกุมและขึ้นศาล กระนั้นบุคลิกของชลก็ยังติดตัวหมอสุธีไปตลอด กระทั่งเมื่อสุธีหนีจากรถควบคุมผู้ต้องขัง ถูกเหล็กที่หล่นใส่รถบรรทุกเสียบทะลุร่างจนต้องส่งโรงพยาบาล ณ ที่นั่น ผีดารารายได้คลายสะกดด้วยการดีดนิ้ว และหมอสุธีได้รับความเจ็บปวดทรมานจากกรรมของตนในที่สุด
จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่นำเสนอออกมา สามารถตีแผ่หรือแฝงไว้ด้วยประเด็นสำคัญในสังคมไทยยุคหนึ่งได้อย่างแยบคายโดยผ่าน Theme ที่ชัดเจน การใช้สัญลักษณ์ในฉากต่าง ๆ เพื่อสร้างความหมายและนัยยะ (แหวน, สัตว์, ผี, ทารกตัวอ่อน) มุมกล้อง (“ระดับสายตา”บ่อยครั้ง) และ ขนาดภาพ (“Full Shot” และ “Medium Shot” เป็นส่วนใหญ่) ก็สามารถสร้างอารมณ์ชวนสงสัยให้ผู้ชมได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่โรงละครที่หนังยังไม่ได้บอกอะไรกับผู้ชมเลยทั้งสิ้น ก่อนที่จะเริ่มเดินหน้าไปพร้อม ๆ กับการเปิดเผยรายละเอียดทีละนิด เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมในการติดตามและเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวไปตลอด อีกทั้งยังท้าทายในเรื่องการปะติดปะต่อเรื่องราวตามไหวพริบและความสามารถแต่ละคน ก่อนจะเข้าสู่ช่วง Climax ซึ่งเป็นการเฉลยปมสำคัญในท้ายที่สุด โดยภายรวมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมชนิดเรียกได้ว่าเกินคาดอยู่พอสมควร
จวบจนวันนี้ ภาพยนตร์เรื่อง “บอดี้ ศพ#19” ก็ได้กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงและมีการหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง หรือกลายเป็นภาพยนตร์ศึกษาให้กับนักศึกษาภาพยนตร์ได้เรียนรู้ในเรื่องกลวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทยแนว “Psycho-Horror” ผ่านมุมมอง ตัวตน และการกำกับของ “ปวีณ ภูริจิตปัญญา” ซึ่งมีแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นชัดเจน ซึ่งมันก็ได้กลายเป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน และเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ในดวงใจของผมไปโดยปริยาย
New Voice