ความรักและความศรัทธาในอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ "หมอริท-นพ.ฤทธ ปกกฤตยหริบุญ" วัย 42 ปี สะบัดปากกาถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ตีพิมพ์เป็นหนังสือส่วนตัวชื่อว่า "ในอ้อมกอดเขมราฐ" กำลังถูกจารึกลงบนแผ่นฟิล์ม เตรียมออกฉายให้ชมในโรงภาพยนต์ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป
ภายใต้การดำเนินงานของ "เดอะ พาลาซโซ เขมราฐ" ที่มีเขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง "อิทธิพล มั่นคง" เป็นโปรดิวเซอร์ และ "ศักดิ์ศรี พวงยอด" เป็นโปรดักชั่นดีไซน์ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกอีสานที่รักในถิ่นฐานบ้านเกิดได้มีส่วนร่วมในการจุดประกายความฝัน เพื่อให้เมืองเล็กๆ สุดเขตแดนสยามริมฝั่งโขง เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ชวนหลงใหล เป็นที่รู้จักวงกว้างมากขึ้น ผ่านเรื่องราวความรักต่างวัย 3 คู่ ระหว่าง แพทย์หญิงแพรขวัญ (รับบทโดย หมอเพื่อน-กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี) แพทย์จบใหม่จากกรุงเทพฯ เลือกมาบรรจุที่ อ.เขมราฐ โดยมีแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ แพรขวัญแอบชอบ ก้อง (รับบทโดย กอล์ฟ-อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา) หนุ่มหล่อหน้าตาดีเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ และอีกหลายๆ อย่าง ความสัมพันธ์ทั้งสองค่อยๆ ก่อร่างขึ้นภายใต้บรรยากาศความเครียดของก้องที่อกหักจากสาวเมืองกรุงจนไม่เชื่อในความรัก และมีมารดาป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก้องมีน้องชายชื่อคนเล็กชื่อ เก้า (รับบทโดย ฟลุ๊ค-ธีรภัทร โลหนันท์) เรียนม.ปลายห้องเดียวกับ ปราย (รับบทโดย ปาล์มมี่-นันทริยา นามบุญ) เป็นลูกสาวเจ้าของร้านขายข้าวมันไก่ แอบชอบเก้าแต่เก้าไม่ชอบและแสดงความรำคาญทุกครั้งที่เจอกัน
ในรีสอร์ทภูห่มดาวของก้องมี เป้ง (รับบทโดย เต๋า-ภูศิลป์) เป็นผู้จัดการวันหนึ่งเป้งไปส่งผักที่ร้านก๋วยเตี๋ยว เจอพิมมะณี (รับบทโดย พุดทะสอน สีดาวัน) สาวลาวที่มาอาศัยอ.เขมราฐทำงานส่งเงินกลับบ้าน เกิดชอบพอกันแฝงความศรัทธาในแม่น้ำโขงอันเป็นสายเลือดของพี่น้องไทยลาว จากหมอรักษาคนไข้ทำไมจึงโดดมาสร้างหนัง? วันนี้เราไปจับเข่าคุยกับหมอริทกัน
ตอนเป็นเด็กชอบดูหนังมากรึเปล่า
ผมเป็นคน จ.สุรินทร์ อ.ท่าตูม บ้านยากจนมาก พ่อแม่ทำนา เด็กบ้านนอกต้องเสาะแสวงหา มีคนพาไปเรียนกรุงเทพฯ อยู่วัดสุทธิวราราม ตั้งแต่ ม.4-6 เป็นเด็กวัด สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้คณะแพทย์ ม.ขอนแก่น เรียนเวชปฏิบัติทั่วไป เกรดดีอาจารย์ศัลยกรรมให้เรียนต่อด้านศัลยกรรม แต่ทางบ้านไม่ไหวแล้ว พอเรียนจบขอทำงานหาเงินก่อน เพื่อโละหนี้สินให้เร็วที่สุด พ่อแม่ไปยืมญาติพี่น้องมามาก ตอนเป็นเด็กก็ชอบดูหนังกางแปง หนังโรง สมัยก่อนในอำเภอมีโรงหนังเล็กๆ แม่ชอบพาไปดู เปิดพัดลมร้อนๆ แต่เด็กน้อยๆ น่ะได้ดูหนังแล้วมีความสุข ไม่สนว่าร้อนหรือหนาวหรอก
เส้นทางความรักและศรัทธาเขมราฐ
หลังจากเรียนจบแพทย์ผมเลือกลงที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ตามกลุ่มเพื่อนสนิท จากนั้น ในปี พ.ศ. 2543 ก็ย้ายมาประจำที่โรงพยาบาลเขมราฐ ก็อยู่มายาวไม่ย้ายไปไหนเลย ที่โรงพยาบาลเวลาเจอคนลาวข้ามฝั่งมารักษาตัว เขาจนมากไม่มีอะไรเลย เวลาเขาหายเอาของกินมาฝาก มันทำให้เราซาบซึ้งกับน้ำใจที่เขามอบให้พูดถึงแล้วน้ำตาไหลทุกครั้งคนลาวมี 2 แบบห่างกันเลยนะ รวยมากก็ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน คนจนมากแทบไม่มีเงินรักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ ส่วนคนเขมราฐเองก็ให้ความอบอุ่น ดูแลเราดีมาก พอใช้ทุน 3 ปีแรกหมดก็ไม่ไปเรียนเฉพาะทาง ด้านศัลยกรรม อายุรแพทย์ สูตินารีแพทย์ ตั้งใจอยู่ที่นี่เปิดคลินิกทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ เสริมก็พออยู่ได้ ซาบซึ้งในความเป็นเขมราฐ แม่น้ำโขงเห็นทุกฤดูกาล หน้าฝนงามแบบหนึ่ง หน้าแล้งงามอีกแบบหนึ่ง มีอาหารการกินสมบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวมาก สำคัญที่สุดคนที่นี่รักและเอ็นดูเรา
แรงบันดาลใจในการสร้างหนัง
รู้สึกว่าที่นี่มีบุญคุณกับเรา จึงอยากจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้เป็นแลนด์มาร์คในประเทศไทย ปัจจุบันนี้คนไม่ค่อยรู้จักเขมราฐอย่างท่องแท้ อย่างหมอไปราชการคนถามว่ามาจากไหน เขมราฐนี่ติดเขมรใช่มั้ย ความภูมิใจของคนเขมราฐก็น้อย หลายคนพอถูกถามว่าอยู่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นคนอำเภออะไรไม่กล้าตอบว่าอยู่เขมราฐ ทั้งๆ ที่บ้านเกิดเมืองนอนของคุณสมบูรณ์มาก จึงจัดประกวดหนังสั้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ เขมราฐในใจฉัน เพื่อจุดประกายความคิดของเยาวชน จนวันหนึ่งสิ่งที่เราได้สัมผัสมันตกผลึกในความคิด จึงถ่ายทอดด้วยการเขียนหนังสือ เพื่อพาเขมราฐไปทั่ว ใช้ชื่อว่าในอ้อมกอดเขมราฐ เป็นนวนิยายเชิงชีวิตจริง วันหนึ่งมีความคิดว่า เมื่อเราทำนิยายแล้วก็อยากทำหนังนะ เลยตัดสินใจลุยเลยใช้ชื่อว่าอ้อมกอดเขมราฐ
สิ่งที่จะได้เห็นในหนังเรื่องนี้
ในหนังเรื่องนี้อันดับแรกเลยผู้ชมจะได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในหนังไทย หมอเขียนบทตีแผ่เรื่องราวหลายอย่าง ทั้งในเรื่องความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งไม่ได้เล่าแบบทื่อๆ เป็นการเล่าแบบสารคดี มีความสนุกสนาน แฝงความลึกซึ้งของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ เช่นความตาย ความผิดหวัง ความเสียใจ และความสัมพันธ์สองฝั่งโขง หนุ่มไทยสาวลาว เราเป็นพี่น้องกันตัดกันไม่ได้อยู่แล้ว แหล่งท่องเที่ยวก็แฝงอยู่ในหนังแน่นอน แม่น้ำโขง หาดทรายสูง แก่งช้างมอบ หรือวิถีชีวิตชาวบ้าน ในถนนคนเดิน การทำหนังใหม่สำหรับผมมาก ผมเป็นหมอรักษาคนไข้อย่างเดียว คนเขมราฐส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่เป็นห่วงกันว่าจะทำได้หรอ โปรเจ็กต์นี้ใหญ่นะ ก็พร้อมทุ่มหมดหน้าตัก เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้ว่าเขมราฐงดงามมาก
ความหวังกับการสร้างหนังครั้งแรก
ผมขอทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ส่วนผลตอบรับจะเป็นอย่างไร เราไม่สามารถไปบังคับคนได้ แต่ลึกๆ ก็หวังว่าคนจะยอมรับ เป็นหนังกระแสใหม่ไม่ค่อยมีคนทำอย่างนี้ ตอนนี้รู้สึกชอบการทำหนังเหมือนกันนะ เวลาเราเขียนบทไม่สะดุด สามารถเล่าเรื่องให้คนอ่านเข้าใจ และคล้อยตาม คัดเลือกนักแสดงเองด้วย ตัวนี้ต้องเป็นแบบนี้อายุเท่านี้แต่งตัวแบบนี้อยากให้ลองสัมผัสอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยเห็น ผมไม่ได้สร้างหนังบ้านนอกนะ กลุ่มเป้าหมายของผมคือทุกคนสามารถสัมผัสได้ เมื่อชมจบแล้วมั่นใจว่าทุกคนจะหลงรักเขมราฐมากขึ้น
ที่มา siamdara.com