“ฉันสนใจหนังที่มีตัวละครหญิงแกร่งในเนื้อเรื่องอันเข้มข้นอยู่เสมอ” อลิซาเบ็ธ คาร์ลเซ่น ผู้อำนวยการสร้างเปิดเผยถึงจุดมุ่งหมายที่จะนำนิยายของแพทริเซีย ไฮสมิธเรื่อง The Price of Salt นำมาถ่ายทอดบนจอเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความรักอันเป็นภาษาสากล “เรื่องราวในหนังสือของไฮสมิธถือว่าหาญกล้าเมื่อได้รับการตีพิมพ์และรู้สึกว่าเนื้อเรื่องไม่ได้ล้าสมัยเลยเพราะหลายอย่างที่แครอลและ เทเรซต้องแบกรับนั้นเข้ากับยุคปัจจุบันอยู่ด้วย” ซึ่งนิยายเรื่อง The Price of Salt ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1952 ภายใต้นามแฝงว่า แคลร์ มอร์แกน เนื่องจากนิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับรักเพศเดียวกันอันเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในยุคนั้น ปัจจุบันนิยายได้รับการประเมินค่าว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของไฮสมิธ
หนังใช้กรุงซินซินเนติ รัฐโอไฮโอมาเป็นสถานที่ในการสร้างฉากมหานครนิวยอร์กในยุค 1950 ซึ่งได้ เอ็ด แล็คแมน ผู้กำกับภาพที่เคยร่วมงานกับท็อดด์ เฮย์นส์มาแล้วใน Mildred Pierce, Far From Heaven และ I’m Not There มาทำหน้าที่กำกับภาพ โดยใช้กล้องฟิล์ม Super 16 mm มารังสรรค์
“ การที่ผมกับท็อดด์มีประสบการณ์การร่วมงานที่ดีมากก่อน เราจึงค้นพบไอเดียเจ๋งและมุมมองใหม่ในการทำงาน นั่นก็คือภาษาในหนังเรื่องนี้ว่า ‘สัจนิยมดั่งบทกวี’ ซึ่งอ้างอิงจากผลงานของช่างภาพในยุคกลางศตวรรษ” ทั้งเฮย์นส์และแล็คแมนก็ค้นคว้าเพื่อหามุมมองและต้องการให้ภาพถ่ายในยุคสมัยนั้นมีความเป็นกวีได้อย่างไร
“การถ่ายภาพหรือการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายคือการบอกความจริงเชิงจิตวิทยาผ่านภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ท็อดด์และผมพยายามทำอยู่เสมอ นั่นคือหาบริบทที่จับต้องได้ของเนื้อเรื่องและลงมือถ่ายทอดออกมา หลักจิตวิทยาล้วนมีผลทุกองค์ประกอบในการนำเสนอเรื่องราวผ่านภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนกล้อง การจัดแสง จนถึงการออกแบบเสื้อผ้า” แล็คแมนกล่าว
เครื่องแต่งกายก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะบ่งบอกเรื่องราวในหนังและบุคลิกของตัวละคร แซนดี้ พาวเวลล์ ดีไซเนอร์เจ้าของสามรางวัลออสการ์ กล่าวถึงหน้าที่สำคัญของการเล่าเรื่องราวแสนงดงามผ่านเครื่องแต่งกายว่า “หน้าที่ของฉันคือช่วยสร้างสรรค์ตัวละครให้ดูน่าเชื่อถือ ฉันต้องการให้แครอลดูเป็นคนทันสมัยแต่ลึกซึ้ง ตัวละครอย่างเทเรซก็จะถือเป็นแบบอย่างและประทับใจไปด้วย” ซึ่งพาวเวลล์ ได้ร่วมมือกับเมคอัพอาร์ติส แพทริเซีย เรแกน และแฮร์สไตลิสต์ เจอร์รี เดคาร์โล มาช่วยสร้างตัวละครอันเป็นเอกลักษณ์ให้ผู้ชมจดจำ
และเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสบรรยากาศยุค1950 ยิ่งกว่าสมจริง จูดี้ เบ็คเกอร์ ผู้ออกแบบฉากที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับมือหนึ่งมาหลายคนไม่ว่าจะเป็น อังลี (Brokeback Mountain) ลินน์ แรมเซย์ (We need to talk about Kevin) เดวิด โอ รัสเซลล์ (American Hustle) และเคยร่วมงานกับท็อดด์ เฮย์นส์มาแล้วครั้งหนึ่งใน I’m Not There มาสร้างสรรค์ฉากด้วยสีที่ใช้กันในยุคต้น 50 โดยเฉพาะการตกแต่งภายในด้วยสีเขียว เหลือง และชมพูหม่นๆซึ่งเป็นสีที่ให้ความรู้สึกต่อบ้านเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
แล้วทุกองค์ประกอบของเรื่องราวได้รับการถ่ายทอดบนจอเงินอย่างวิจิตร นำเสนอสภาพสังคมยุคเปลี่ยนผ่านอย่างจริงใจ Carol จึงถือเป็นผลงานล้ำค่าของวงการภาพยนตร์ที่น่าจับตามอง
Carol - รักเธอสุดหัวใจ
เปิดรอบพิเศษ 4 – 10 กุมภาพันธ์ ฉายจริง 11 กุมภาพันธ์ 2559
เดินตามหัวใจแล้วในโรงภาพยนตร์เท่านั้น