ข่าว > ข่าวดาราทั้งหมด > ข่าวดาราไทย

จาก ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สู่ พันท้ายนรสิงห์ ผลงานการกำกับล่าสุดของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

25 ธ.ค. 2558 10:04 น. | เปิดอ่าน 1527 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 

Q: ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาจากภาพยนตร์แห่งสยามประเทศอย่างสุริโยไท ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทั้ง 6 ภาค และที่เรากำลังจะได้ชมกันก็คือ พันท้ายนรสิงห์ พูดได้ว่าภาพจำของ ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิม ยุคล คือผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ปฏิวัติการทำหนังย้อนยุค, พีเรียด, อิงประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่กระบวนการสร้าง ที่มีการสร้างโรงถ่ายทำอย่างเป็นทางการ มีการเอานักแสดงมาเข้าโรงเรียนฝึกฝนทางด้านการแสดงก่อนการถ่ายทำเป็นปีๆ มีการสร้างฉากเซ็ทโลเกชั่นเสมือนจริงใหญ่โตอลังการ ในสายตาของท่านมุ้ย ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์มีเสน่ห์ชวนหลงใหลอย่างไร กว่าจะถ่ายทำได้ในแต่ละฉาก นักแสดงจำนวนมหาศาล ทีมงานหลายพันชีวิต ใช้เวลาก็นานกว่าจะปิดกล้องถ่ายทำ ฯลฯ

ท่านมุ้ย: ปัญหาก็คือผมไม่เคยถือว่าเป็นหนังประวัติศาสตร์หรือว่าอะไรนะ เพราะว่าหนังหรือภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์เพราะต้องบอกอย่างนี้ครับ ไม่ว่าผมทำหนังอย่างทองพูนโคกโพซึ่งเกี่ยวกับคนขับแท๊กซี่กับพระสุริโยไท ผมก็ treat ให้เหมือนกันหมด เพราะว่าเราตั้งใจทำ 100 เปอร์เซ็นต์ 150 เปอร์เซ็นต์ เผื่อถ้ามี 50 เปอร์เซ็นต์เพิ่ม คือทำให้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนที่ว่าทำไมถึงมาหลงใหลในพระสุริโยไทหรือนเรศวรอะไรพวกนี้ คือเมื่อเราทำแล้วเราก็ต้องทำให้เสร็จ อย่างนเรศวรมันยาวมากนะครับ เพราะว่ามันมีหลายตอน ถ้าเผื่อว่าเราตัดตอนใดตอนหนึ่งออกมันก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะว่ามันมีที่คนเขารู้เยอะมาก อย่างพระแสงดาบคาบค่าย หรือพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง  ยุทธหัตถี ประกาศอิสรภาพ คืออันนี้ที่รู้ๆกันนะ และยังมีที่ไม่รู้อีกเป็นจำนวนมาก ยังมีศึกตองอู ศึกนันทบุเรง คือมันมีมากมายมหาศาลซึ่งแต่ละอันสามารถทำหนังได้เรื่องหนึ่งเต็มๆเลยนะครับอย่างศึกนันทบุเรง แค่ศึกเดียวหรือพระยาจีนจันตุจากเหตุการณ์ๆเดียวเราสามารถทำหนังได้ทั้งเรื่องเช่นเดียวกัน

Q: ผลงานภาพยนตร์พีเรียดย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์เรื่องล่าสุดของท่าน "พันท้ายนรสิงห์"

ท่านมุ้ย: สำหรับเรื่องราวของ "พันท้ายนรสิงห์" คือเป็นเรื่องที่ Controversial (มีข้อโต้แย้งเป็นที่ถกเถียง) กันมากๆเลย คือเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าเสือกับพันท้ายซึ่งเราก็ไม่รู้เลยว่าเป็นจริงแท้แค่ไหน แต่ว่าเรื่องของพันท้ายเป็นเรื่องที่อยู่ในพงศาวดารพูดถึงนายสินที่ทำให้หัวเรือหักและโดนประหารชีวิตในที่สุด ซึ่งเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ไทย เป็นคนเดียวที่ขอให้ตัดหัวเพื่อรักษาพระเกียรติของพระเจ้าเสือ ซึ่งทำให้เราคิดว่าพระเจ้าเสืออาจไม่เลวร้ายเหมือนอย่างที่บางข้อมูลมีการพูดถึง แต่จะว่าไปแล้ว จริงๆแล้วท่านต้องมีอะไรดีอย่างน้อยที่สุดพันท้ายถึงยอมถวายชีวิตให้พระเจ้าเสือ จากจุดนี้ทำให้เราเริ่มค้นคว้าลึกเข้าไป แต่จริงๆก็ไม่ได้จำเป็นต้องค้นคว้าอะไรมากมายนะครับ เพราะว่าเรื่องบทของพันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องที่ลุงผม (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล) เอามาทำเป็นหนัง (พ.ศ.2493) เป็นละคร (พ.ศ.2487) มาก่อนในสมัยโน้น แต่ว่าเรารู้อย่างหนึ่งว่าพระเอกก็คือชูชัย พระขรรค์ชัย (ฉบับภาพยนตร์) นะครับ แล้วนางเอกคือสุพรรณ บูรณะพิมพ์ (ทั้งฉบับละครเวทีและภาพยนตร์) แล้วบทของท่าน มันค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร นั่นแสดงว่าท่านศึกษามากมายพอสมควรนะครับ ซึ่งเราก็ไปศึกษาต่อ ต่อยอดมาจากท่าน แล้วเราก็นำมาทำ (พันท้ายนรสิงห์ ฉบับปีพุทธศักราช 2558)


พันท้ายนรสิงห์ พ.ศ.2493

Q: นั่นหมายความนอกจากท่านมุ้ยทรงประทับใจในพระราชนิพนธ์ "พันท้ายนรสิงห์" ของพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ทรงเลือกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ให้ได้ชมกันแล้ว ระยะเวลาที่ผ่านไปกว่า 70 ปีไม่ได้ลดทอนคุณค่าในแก่นสารหรือสาระสำคัญที่บทพระราชนิพนธ์มีท่านมุ้ยมองว่าไม่ได้เป็นความล้าสมัยเลยที่จะนำเสนอในยุคปัจจุบันนี้

ท่านมุ้ย: เรื่องความรักนะเหรอครับ ผมว่าเรื่องความรักเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัยนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักระหว่างเพื่อนระหว่างพันท้ายนรสิงห์หรือไอ้สินกับพระเจ้าเสือ กับผู้หญิงซึ่งเป็นตัวกลางที่อยู่ระหว่างคนสองคนคือนวล ซึ่งพระเจ้าเสือในบทของผมท่านก็รักนวลพอสมควร แล้วก็เวลาเดียวกันไอ้สินรักนวล ขนาดถวายชีวิตด้วยกันตายแทนกันได้ มันเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆเลย

Q: ฟังๆดูแล้วนอกจากความเป็นภาพยนตร์พีเรียดอิงประวัติศาสตร์ใน "พันท้ายนรสิงห์" ผู้ชมจะได้สัมผัสถึงอารมณ์ในรูปแบบของความดรามาติก-โรแมนซ์อยู่พอสมควรเลยทีเดียว

ท่านมุ้ย: ต้องบอกอย่างนี้ครับมันเป็นแกนของเรื่องเลยนะครับ เรื่องโรแมนติคหรือเรื่องอะไรพวกนี้ คือผมก็ไม่รู้นะ คือเราก็พยายามที่จะให้เห็นถึงความรัก ถามว่าแล้วในพันท้ายนรสิงห์มีกี่ความรักละ "มโนมอบพระผู้ เสวยสวรรค์ แขนมอบถวายทรงธรรม์ เทอดหล้า ดวงใจมอบเมียขวัญและแม่ เกียรติศักดิ์รักข้ามอบไว้แก่ตัว" อันนี้พูดไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องเลยเป็นโคลงที่รัชกาลที่6ทรงเขียนไว้ ซึ่งตรงกับในเรื่องนี้ แล้วทุกอย่างนี้เกี่ยวกับความรักทั้งหมด เรื่องแรกเลยคือรักแผ่นดิน รักพระเจ้าแผ่นดิน รักพ่อแม่ รักเมียและท้ายที่สุดคือรักเกียรติศักดิ์ของตัวเอง นี่คือคอนเซ็ปท์ที่อยากให้มันมีการถูกพูดถึงให้ได้

Q: ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นภาพบรรยากาศ เหตุการณ์ เรื่องราวในประวัติศาสตร์ของ "อยุธยา" ในช่วงเวลาต่างๆผ่านภาพยนตร์อย่าง "สุริโยไท" และ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" แล้วสำหรับในเรื่องราวของ "พันท้ายนรสิงห์" ผู้ชมจะได้สัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไหนในสมัยอยุธยา

ท่านมุ้ย: ห่างกันร้อยกว่าปีก่อนที่เราจะเสียเมืองไม่กี่ปี เป็นช่วงท้ายสุดของราชวงศ์บ้านพลูหลวงครับ  อีก 2 รัชสมัยซึ่งเป็นรัชสมัยสั้นๆก่อนที่เราจะเสียเมือง เราก็จะมีการเอ่ยผ่านๆมีการพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระนารายณ์อยู่บ้างเหมือนกันนะครับ

Q: สำหรับแฟนๆของท่านมุ้ยนี่เป็นอีกหนึ่งผลงานภาพยนตร์พีเรียดอิงประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ สุริโยไท  ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนมาถึงผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด "พันท้ายนรสิงห์" ต้องถามว่าเรื่องนี้แตกต่างจากสองเรื่องก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง

ท่านมุ้ย: แตกต่างกันอย่างไรนะเหรอครับ  จริงๆสำหรับพันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในของประเทศมันจะเป็นเรื่องของการปฏิวัตินะครับ มันจะไม่เกี่ยวกับพม่าหรือเขมรอะไรพวกนี้นะครับ มันเป็นเรื่องต่อสู้ภายในรบกันในประเทศระหว่างพระเจ้าเสือกับคนที่ไม่พอใจกับพระเจ้าเสือก็คือ พระพิชัย (รับบทโดยสรพงษ์ ชาตรี) ผู้ที่เข้าใจผิดว่าพระเจ้าเสือเป็นขบถต่อ พระนารายณ์ (รับบทโดยสุเชาว์ พงษ์วิไล) เพื่อที่จะให้พ่อเลี้ยงของตัวเองคือ พระเภทราชา (สมภพ เบญจาธิกุล) ขึ้นมาป็นกษัตริย์แทน

: ท่านมุ้ย , สัมภาษณ์, พันท้ายนรสิงห์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • แอนดรูว์ เฮคเลอร์ จากนักแสดงสายแอคชั่น สู่ผู้กำกับภาพยนตร์สายคุณภาพ Burden
  • Low Season สุขสันต์วันโสด คือการกลับมาเล่นหนังโรแมนติก-คอมเมดี้ในรอบ 6 ปี ของ มาริโอ้ เมาเร่อ
  • แม่มาแล้วจ้า! เอม วิทวัส และ เจมส์ ภูริพรรธน์ สองเทยเพื่อนซี้ ตัวแรงใน พี่นาค 2
  • พลอย พลอยไพลิน จากเจ้าของเพจ สู่นางเอกหนังเรื่องแรกในชีวิต Low Season สุขสันต์วันโสด
  • หยางหยาง พลิกบทบาทร่วมทีม แวนการ์ด บู๊ทรหด จนพี่ใหญ่ เฉินหลง ต้องยกนิ้วให้
  •  
     
     
    ร่วมแสดงความคิดเห็น
     
    ชื่อ :
     
    ความคิดเห็น :