เริ่มพากย์เสียงตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพนักแสดง หนังเรื่องแรกที่พากย์เรื่อง “คนภูเขา” ผลงานสร้าง ของ วิจิตร คุณาวุฒิ ปี พ.ศ.2523 สมัยก่อนจะใช้นักพากย์อยู่แล้ว นอกเหนือจากบทบาทการแสดง ที่ต้องเรียกว่าอยู่ในขั้นสุดยอดของนักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือในเมืองไทยแล้ว น้อยคนนักจะรู้ว่า ปุ๊-มนตรี เจนอักษร มีอีกหนึ่งอาชีพคือ เป็นนักพากย์ ซึ่งรับงานควบคู่กับอาชีพนักแสดงมากว่า 30 ปีแล้ว วันนี้ ’วาไรตี้เถิดเทิง“ มีโอกาสได้คุยกับศิลปินนักพากย์ท่านนี้ จึงอดที่จะนำเรื่องราวดี ๆ มาฝากแฟน ๆ เดลินิวส์ ไม่ได้
ปุ๊-มนตรี ได้เล่าถึงที่มาของการเป็นนักพากย์ว่า เริ่มพากย์เสียงตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพนักแสดง หนังเรื่องแรกที่พากย์เรื่อง “คนภูเขา” ผลงานสร้าง ของ วิจิตร คุณาวุฒิ ปี พ.ศ.2523 “สมัยก่อนจะใช้นักพากย์อยู่แล้ว แต่คุณลุงวิจิตรก็บอกว่าให้พากย์เสียงตัวเองหน่อย และต้องบอกว่าสมัยก่อนพระเอกที่พากย์เสียงตัวเองลงไปในนั้นมันไม่มี ผมก็ดีใจที่จะได้พากย์เสียงของตัวเองลงไปในหนังเรื่องแรกที่ผมเป็นพระเอก ซึ่งเขาก็มีให้พูดภาษาเหนือด้วย ก็มีคนจากภาคเหนือมาสอนให้ผมพูดภาษาเหนือ และมันโชคดีมาก ๆ สำหรับหนังเรื่องแรกของผมที่เล่น เพราะผมได้ทั้งพากย์เสียงตัวเองและพากย์สารคดีนำเรื่องของหนังเรื่องนี้ พูดสปอตโฆษณาของหนังเรื่องนี้อีก คือหลายอย่างมากจากหนังเรื่องแรกที่เล่น ก็ต้องขอบคุณคุณลุงวิจิตรมาก ๆ เพราะทั้งหมดที่ผมได้พากย์ไปมันก็ยังต่อยอดมาเป็นอาชีพในปัจจุบันของผมด้วย”
ต่อยอดทำให้มีอาชีพอื่นเพิ่มขึ้นอย่างนั้นหรือคะ “ตอนนั้นที่ผมได้พากย์ไป ก็มีคนได้ยินเสียงโฆษณา “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก ขุนเขาสูงเป็นของหมู่เฮา คนภูเขา” คนที่ฟังก็สงสัยโทรศัพท์ไปถามที่ไฟว์สตาร์ที่เป็นคนสร้างหนังเรื่องนี้ว่า ใครเป็นคนพูดสปอตโฆษณานี้ เพราะเสียงใหม่ เสียงแปลกดี ทางนั้นก็บอกว่า พระเอกเรื่องคนภูเขาเป็นคนพูดเอง คนนั้นก็ถามต่อว่าแล้วเขาจะมาพากย์อีกมั้ย ก็ต้องลองติดต่อเขาดู พอเขาติดต่อมาผมก็รับทันทีเลย เพราะสมัยนั้นงานอะไรเข้ามาผมก็รับหมด”
พอผ่านมาสักพักทีมพากย์หนังก็มาติดต่อ และชวนผมมาพากย์หนังไทย ซึ่งหนังไทยสมัยก่อนยังไม่มีเสียงในฟิล์ม ก็เลยให้ผมพากย์พระเอกทุกคน“ เรียกว่าในขณะที่ผมเล่นหนังด้วยตอนนั้น ก็ยังพากย์เสียงให้กับพระเอกคนอื่น ๆ ไปด้วยเช่นกัน และยังมีใช้เสียงเราในการพากย์สปอตโฆษณาด้วย ถามว่าตัวผมรู้เรื่องที่เรามีพรสวรรค์ด้านการใช้เสียงมั้ย คือผมเรียนทางด้านนี้มา เป็นการเรียนเกี่ยวกับละครโดยตรงจาก ม.ศิลปากร คณะอักษรศาสตร์ ทีนี้เราก็เลยรู้จักวิธีการใช้เสียง วิธีการแสดงมันก็เลยได้เปรียบคนอื่นนิดหนึ่งตรงนี้ เพราะตอนที่ผมเรียนเพื่อนก็ชอบบอกว่าช่วยอ่านตรงนี้ให้หน่อย คือเวลาเพื่อนจะทำพรีเซนต์ต่าง ๆ เขาจะมาให้ผมอ่าน หรือใครจะมาเล่านิทานให้เด็กฟัง ก็มาให้ผมอ่านใส่เทป ผมก็คิดว่าสงสัยเสียงเราจะดีมั้ง”
“จริง ๆ ตั้งแต่ผมเด็ก ๆ เลยก็หัดพากย์หนังมาก่อน คือผมเป็นคนชอบดูหนังมาก แต่คุณพ่อบอกว่าต้องสอบได้ที่ 1 ก่อนถึงจะได้ดู ผมก็ทำจนได้ก็เลยได้ดูหนังตลอด แต่พอไปดูจริง ๆ ผมก็ไม่ได้ดูหนัง หันไปดูนักพากย์แทน เพราะเวลาผมเห็นนักพากย์เค้าพากย์มันสนุกมาก ๆ คือเค้าจะพากย์สดในโรง เป็นทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนร้าย อะไรต่าง ๆ นานาเอง โดยมีการทำเอฟเฟกต์ ทั้งฝนตก ฟ้าผ่า น้ำตก หรือยิงปืน แม้กระทั่งวางเพลงเอง เพื่อให้เข้ากับหนังก็ทำหมด มันเป็นความเก่งและอัศจรรย์มาก ผมเลยชอบและหัดพากย์ตามตั้งแต่เด็ก ๆ เลย อย่างอ่านการ์ตูนเด็กคนอื่นก็อ่านปกติ แต่ผมอ่านแบบพากย์เป็นตัวละครเลย มีวางเพลงด้วยแล้วอัดให้เพื่อนฟัง เขาก็ชอบกันมาก ๆ”
พูดถึงขั้นตอนการพากย์หนังในอดีต นักแสดงมากฝีมือเผยต่อว่า “การพากย์หนังต่าง ๆ มันก็จะมีนักพากย์อยู่ 1 คน ซึ่งจะหิ้วกระเป๋าหนังไปทั่วประเทศไทย โดยเขาสามารถที่จะพากย์ทุกตัวละครได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้ายผู้ดี นางเอก พระเอก วางเสียง เอฟเฟกต์เองคนเดียวในยุคสมัยก่อน แต่พอหลัง ๆ ก็จะมีนักพากย์ผู้หญิงมาช่วยด้วย แต่คนดูก็จะชอบผู้ชายพากย์คนเดียวมากกว่า เพราะมันตลก สนุกสนาน มุกเยอะ แต่ถ้าเป็นการพากย์หนังลงฟิล์ม เค้าก็จะมีทีมพากย์อยู่หลายคน ก็จะพากย์ทั้งพระเอก ผู้ร้าย ตัวตลกเช่นกัน โดยหนังเขาก็จะเอามาให้ห้องอัดเสียง และสมัยก่อนพอพากย์เค้าจะตัดหนังมาเป็นลูป ลูปหนึ่งมันก็จะเป็นฉากสั้น ๆ ประมาณ 1-2 นาที เราก็พากย์ไปทีละลูป ๆ จนจบเรื่อง ซึ่งทุกคนจะต้องพยายามพากย์ให้มันซิงค์กันหมด ไม่งั้นจะต้องพากย์ใหม่กันทุกคน"
วนการพากย์เสียงในยุคปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้างคะ “ผมมองว่าการพัฒนาในเรื่องการพากย์เสียงในปัจจุบัน บางทีมันก็ล้าหลังอยู่ เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าการพากย์มันอาจจะแบ่งได้ 2 แบบคือพากย์แบบจริงจังเอาตามเนื้อเรื่องไปเลย กับพากย์แบบตลกขบขัน จากนั้นก็พัฒนามาพากย์แบบเป็นจริงเป็นจังให้ตรงปาก ก็คือมันมีการพัฒนาที่ดีในด้านต่าง ๆ แต่ผมขอเรียกว่าเป็นการพัฒนาแบบกลับไปกลับมา เหมือนแฟชั่นที่คนยุคก่อนชอบนุ่งกางเกงขาบาน ผ่านมาพักใหญ่ไม่นุ่ง แล้วก็กลับไปนุ่งอีก กลับไปกลับมาแบบนี้ ซึ่งมันอาจจะไม่เห็นชัดเจนมากนัก แต่เรื่องเทคโนโลยีการพากย์มันพัฒนาไปในทางที่ดี มีการแยกอัดทีละคนหรือให้ความชัดเจนของเสียงก็ได้ ก็เป็นสัญญาณที่ดีและหวังว่ามันคงจะได้มีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันหลายคนอาจจะห่วงว่าหนังส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้คนพากย์แล้วเพราะมีเสียงในฟิล์ม”
ถ้าเป็นแบบนั้น ก็น่าจะมีผลกระทบกับคนที่มีอาชีพนักพากย์ซิคะ “บอกเลยว่าไม่ครับ เพราะตอนนี้เราอยู่ในยุคดิจิตอล ช่องต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมามากมาย หนังต่าง ๆ ก็มีหลากหลาย ทั้งต่างประเทศนั่นนี่ สปอตโฆษณาก็ยังต้องใช้คนพากย์อยู่ ดังนั้นมันเลยไม่มีผลกระทบอะไรแน่นอน จริง ๆ ต้องบอกว่าคนพากย์ไม่พอด้วยซ้ำ คนที่ทำอาชีพนี้ก็มีงานต่อเนื่องมากขึ้น”
ขอถามเรื่องค่าตัวนักพากย์ พอจะบอกได้มั้ยคะ “กับเรตค่าจ้างในการพากย์หนังหรือสปอตโฆษณา สารคดีต่าง ๆ แต่ละครั้งมันก็ต้องดูกันไปตามเนื้องานและความเหมาะสม อย่างสปอตสั้น ๆ 30 วินาที ก็ประมาณหลักพัน แต่ถ้าเป็นสารคดีก็หลักหมื่น คือมันเป็นอัตราค่าจ้างระดับปกติอยู่แล้วครับ”
การใช้นักพากย์ใส่เสียงตัวละคร มีส่วนช่วยตัวละครนั้น ๆอย่างไรหรือไม่ “เสียงของนักพากย์สามารถช่วยตัวละครตัวนั้น ๆ ได้เลย อย่างบางตัวละครเขาเล่นไม่เก่ง แต่พอมาเจอนักพากย์ที่เขาพากย์เก่ง ๆอย่าง อารอง เค้ามูลคดี เค้ามาพากย์ตัวละครหนึ่ง ที่ผมคิดว่าตอนที่เล่นในหนังเค้าเล่นสู้ตัวอื่น ๆ ไม่ได้หรอก แต่พออารองมาพากย์ปุ๊บ มันเก่งขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นนักพากย์มันสำคัญมาก ๆ นอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อเรื่องและตัวละครแล้ว การพากย์ยังช่วยโน้มน้าวอารมณ์ของคนดูให้สนุกสนานตามเราไปได้อีกด้วย ตัวผมเองก็คิดว่าจะทำอาชีพพากย์เสียง ไม่ว่าจะเป็นสปอตโฆษณาต่าง ๆ หรือหนังที่ต้องใช้เสียงพากย์ไปเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับงานแสดง ยังไงก็ฝากติดตามผลงานผมด้วยครับ” นักแสดงรุ่นใหญ่กล่าวทิ้งท้าย.“
ที่มา เดลินิวส์