เทศกาลภาพยนตร์ Toronto ปี 2014 ที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับเลือกไปฉาย นั่นคือ Sway ผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของผู้กำกับหน้าใหม่ รุจ ตั้งจิตปิยะนนท์ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้สถานที่ถ่ายทำถึง 3 ประเทศใน 3 ทวีปทั่วโลก และได้รับเกียรติร่วมงานกับนักแสดงนำมากฝีมือหลายเชื้อชาติ ซึ่งถักทอเรื่องราวสามเรื่องร้อยเรียงกัน แต่ละเรื่องเสนอมุมมองผ่านชีวิตของตัวละคร ความสัมพันธ์ การดิ้นรนที่จะสื่อความรู้สึกในใจ และการก้าวผ่านจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของคู่รักแต่ละคู่ โดยมีเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นฉากหลัง ซึ่งกว่าจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวขนาดนี้ ก็ได้ผ่านการเดินทางที่ยาวนานทีเดียว ซึ่งสามารถอ่านได้จาก "บันทึกของผู้กำกับ" ครับ
ผู้กำกับ รุจ ตั้งจิตปิยะนนท์
บันทึกของผู้กำกับ รุจ ตั้งจิตปิยะนนท์
"สิ่งต่างๆ ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งกลับมาซ้ำรอยเดิมมากขึ้นเท่านั้น"
ปี พ.ศ.2553 ขณะที่ผมเดินทางตัวคนเดียวกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่กรุงเทพฯโดยเริ่มมองหาแรงบันดาลใจในการเขียนบทภาพยนตร์ เป็นเวลาเดียวกับที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยค่อนข้างตึงเครียด มีผู้ประท้วงสวมเสื้อสีตามฝ่ายของตนเพื่อรวมตัวเรียกร้องและแสดงจุดยืนทางการเมือง คนเหล่านี้หาใช่นักศึกษาในชุดเครื่องแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านและชาวนา พวกเขาสร้างบังเกอร์และเตรียมกำลังเพื่อที่จะต่อสู้กับทหารหากมีการสลายการชุมนุม ดูเหมือนอีกไม่นาน เมืองหลวงที่สวยงาม ห้างร้านหรูหรา กรุงเทพฯ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น สวรรค์ของนักท่องเที่ยวแห่งนี้ คงจะลุกเป็นไฟ
คุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่น 40 ปีที่แล้ว ถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯก็คงคล้ายกับม.เบิร์กลีย์ในยุคเดียวกัน ผมได้พูดคุยกับพวกท่านถึงเรื่องการเดินขบวนนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลในสมัยนั้น และการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายรัฐบาล จนถึงวิถีชีวิตของพวกท่านสมัยที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย และในที่สุดได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศอเมริกา คำถามพรั่งพรูออกมามากมาย ผมถามเรื่องการพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวในต่างแดนเมื่อพวกท่านมาถึงใหม่ๆ จนถึงว่าพวกท่านรู้สึกอย่างไรที่ในปัจจุบันชาวจีนที่เคยอพยพ มาอยู่ในสหรัฐ ทยอยเดินทางกลับบ้านเกิดเมื่อประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกพร้อมกับโอกาสสำหรับผู้คนที่เปิดกว้างมากกว่าเดิม ไม่อยากเชื่อว่าพวกเรา ไม่เคยคุยกันถึงเรื่องเหล่านี้มาก่อน ในวันนี้ ผมได้มองย้อนไปถึงชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ และต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า ผมเห็นชีวิตตัวเองเป็นราวกับภาพสะท้อนในอดีตของพวกท่าน
จากจุดนั้น เรื่องราวที่เหลือก็ถูกร้อยเรียงจากประสบการณ์และผู้คนที่พบเจอ ผมต้องการถ่ายทอดช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของผู้คนแต่ละรุ่น ในช่วงวัยของการเป็นครอบครัวที่ต่างกัน ความเจ็บปวดในการเลือกทางเดินที่ต้องลาจากที่ๆเรียกว่าบ้าน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ ที่แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในปัจจุบันแต่ก็ยังสัมผัสได้ และท้ายที่สุด รูปแบบชีวิตในอนาคตและความสัมพันธ์ระหว่างคนรักของคนรุ่นผม ที่มีความรู้สึกว่าโลกนี้เล็กลงทุกวัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มถ่ายทำในกรุงเทพฯเมื่อเดือนสิงหาคมปี พ.ศ.2553 เกือบจะทันทีหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองสงบลง ในทีแรกผมยังไม่แน่ใจว่าจะถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ เรื่องสั้นหรือเรื่องยาว แต่ก็แอบหวังว่าจะหาเงินทุนได้มากเพียงพอที่จะถ่ายทำตอนต่อไป และในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือทางการเงินบางส่วนและความเชื่อมันที่ครอบครัวมีให้กับผม เราได้ถ่ายทำส่วนของลอสแองเจลิสในอีกหนึ่งปี ให้หลัง และสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2556 ส่วนของปารีสก็เสร็จสมบูรณ์ เป็นการเดินทางที่ค่อนข้างยาวนานทีเดียว
แรงบันดาลใจของผมบางส่วนมาจากผลงานของนักประพันธ์ร่วมสมัยหลายท่าน เช่นงานของ ฮารุกิ มูราคามิ และ จูโน ดิอัส ผมประทับใจที่งานของพวกเขาเรียงร้อยเรื่องราวความสัมพันธ์ของครอบครัวและความรักระหว่างหนุ่มสาวออกมาอย่างสวยงาม โดยมีการหมุนไปของเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้เป็นฉากหลัง, รายการวิทยุ ดิ อเมริกันไลฟ์ ที่ถ่ายทอดชีวิตของชายหลายคนที่มีชื่อเดียวกันคือ จอห์น สมิธ กับการเรียบเรียงเรื่องราวร้อยพันของพวกเขาเหล่านั้น กลั่นกรองหลอมรวมจนมีจุดร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันมานำเสนอ, งานของผู้กำกับท่านอื่นๆเช่น หว่อง กา ไว, อัง ลี่, อเลฮานโดร อินาร์ริตู และอีกมากมาย
Sway เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ที่ถูกรวบรวม และการย้อนกลับไปมองเรื่องราวจากมุมมองของผู้ที่เดินทางผ่านชีวิตและโลกใบนี้มาในอีกรูปแบบหนึ่ง
10 ธันวาคม 2558 ในโรงภาพยนตร์