นอกจากจะพูดถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษและผลของกรรม (การกระทำ) แล้ว ภาพยนตร์ผีระทึกขวัญเรื่อง "อาบัติ" ของค่ายสหมงคลฟิล์มฯ โดยผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ไฟแรง "ฝน-ขนิษฐา ขวัญอยู่" ยังจำลองฉาก "งานบุญข้าวประดับดิน" อันเป็นประเพณีงานบุญของชาวอีสานที่มีความเชื่อว่าในคืนแรม 14 ค่ำ เดือน 9 คืนเดือนดับที่ประตูนรกจะเปิดเชื่อมกับโลกมนุษย์ พร้อมปลดปล่อยดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ผี และ เปรตให้ขึ้นมารับส่วนบุญที่ญาติพี่น้องอุทิศให้บนโลก ทำให้เหล่าวิญญาณทั้งหลายได้อยู่อย่างสงบสุข ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งฉากสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้
ผู้กำกับฯ กล่าวถึงฉากนี้ว่า "ฉาก ‘งานบุญข้าวประดับดิน’ เป็นฉากที่ฝนชอบมากเลย มันเรื่องประเพณีความเชื่อของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง มันคืองานบุญที่มารวมตัวกันเพื่อทำให้คนที่ตายไปแล้ว ความรู้สึกมันไม่ใช่งานศพ งานนี้เป็นงานที่สวย ให้ความรู้สึกหม่น ๆ รู้สึกว่าทุกคนมีคนที่เค้าคิดถึง มารวมตัวกันทำกระทงข้าวน้อย ลึก ๆ ในใจคือมีความผิดบางอย่าง มีบางอย่างในใจ องค์ประกอบใหญ่ที่สุดคือ แต่ละคนมีคนที่เค้าคิดถึง นี่คือสิ่งที่เค้าคิดว่าช่วยคนเหล่านั้นได้จริง ๆ
ประเพณีนี้เป็นสิ่งเชื่อมระหว่าง 2 มิตินี้เข้าด้วยกัน จริง ๆ ตอนนี้ก็ถูกปรับไปตามยุคสมัย จะมาทำกระทงห่อข้าวน้อยกัน มียาสูบ มีข้าวเหนียว พอเข้าแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ข้ามไปเที่ยงคืน จะเอากระทงไปวางไว้ตามต้นไม้ กำแพง มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า พื้นที่ที่มีบุญคือวัด เพราะฉะนั้นพวกเปรตหรือสัมภเวสีต่าง ๆ ที่อยากได้บุญก็จะมาที่วัด เค้าก็เอากระทงห่อข้าวน้อยนี้ไปวาง ก็แล้วแต่คน บางคนเยอะหน่อยบางคนก็มาทำให้ญาติพี่น้องตัวเอง ซึ่งจริง ๆ ดูเป็นประเพณีเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน แต่หนึ่งปีมีครั้งเดียว มันเลยสำคัญสำหรับเค้ามาก ปัจจุบันยังมีอยู่ในภาคอีสาน ก็ถือว่างานบุญนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของเรื่องนี้เลยค่ะ"
สกู๊ป "งานบุญข้าวประดับดิน"
"อาบัติ" กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นตามสยอง 15 ตุลานี้ในโรงภาพยนตร์