จุดเริ่มต้น-ที่มาที่ไปของ "แม่เบี้ย"
จริงๆ แล้วมันเริ่มจากข่าวที่ว่ามีผู้หญิงแม่ลูกที่มาจากเมืองนอก แต่งชุดไทยแล้วไปเดินในห้างก็มีคนหาว่าบ้า ประเด็นนั้นเป็นประเด็นที่สนใจมาก มันสะท้อนให้เราได้รู้ว่าคนปัจจุบันนั้นคิดอะไรอยู่กับการที่คนแต่งชุดไทยเพราะฉะนั้นเราคิดว่าโลกสมัยใหม่เปลี่ยนไปมาก คนไทยอยู่ในเมืองไทยแต่งชุดไทยมันแปลกกันมาก คนตลกหรือคนว่าโอเวอร์ เราไปญี่ปุ่นไปโตเกียวคนใส่กิโมโนมีแต่คนยกย่อง ทั้งๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นเจริญกว่าเราตั้งมากมาย แต่เค้ายังยึดมันกับขนบธรรมเนียมของเค้าไปพร้อมๆ กับความเจริญ มันก็ถูกของเค้า เราก็เลยมีความรู้สึกว่าคนไทยลืมรากเหง้าของตัวเองโดยเฉพาะคนปัจจุบันที่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาจนลืมรากเหง้าของตัวเอง หรือว่าคนที่เห็นรากเหง้าของเราเองเป็นคนเพี้ยน, ตลก หรือเชยเท่านั้นเองหรือ ซึ่งตรงกับแก่นแท้หรือวรรณกรรม "แม่เบี้ย" ของ "คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์" เป็นอย่างยิ่ง ถ้าไปอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จะเห็นว่าไม่ได้พูดถึงความรักหรือความพิศวาสระหว่างชนะชลกับเมขลาโดยมีงูหนึ่งตัว ทำให้ตื่นเต้นอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วแก่นแท้อยู่ที่ว่ารากเหง้าของตัวเองนั้นอยู่ที่ไหน คนไทยกำลังลืมขนบธรรมเนียมประเพณีไทย นิยายนั่นเขียนเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วนะ ไม่เชยเลย ยิ่งยุคนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก จากข่าวนั้นทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจนะว่าคนรุ่นใหม่เห็นความเป็นไทยเป็นเรื่องตลกหรือเรื่องบ้า
มันอาจจะเป็นยุคใหม่หรือเปล่าที่คนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องความเป็นไทย
นั่นน่ะสิ ทำไมเราไม่ดูเกาหลี ญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างล่ะ ขณะที่เค้าเป็นประเทศที่เจริญกว่าเราตั้งเยอะ เค้าไฮเทคกว่าทุกเรื่อง เศรษฐกิจเค้าก็ดีกว่าทุกอย่าง ดีกว่าหมด ทำไมเค้าถึงเห็นวัฒนธรรมของเค้าเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง จริงหรือไม่จริง
การดัดแปลงเนื้อหาจากนิยายสู่ภาพยนตร์
จริงๆ แล้วตอนนึกถึง "แม่เบี้ย" แล้วกลับไปอ่านอีกทีหนึ่ง มันก็ชัดเจนเลยว่าจริงๆ แล้วพี่วาณิชซ่อนสิ่งนี้เอาไว้ เหมือนรู้ว่าอีก 30-40 ปีข้างหน้าคนไทยยิ่งจะไม่เห็นคุณค่าของความเป็นไทยมากขึ้นแล้วก็มากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะเรื่องจริงๆ แล้วจะเป็นเรื่องที่ดำเนิน 7 วันสุดท้ายในชีวิตของชนะชลที่ค้นพบความเป็นตัวเองที่บ้านไทยโบราณหลังนั้นที่บางปลาม้า ริมแม่น้ำสุพรรณ ที่ตรงนั้นเองที่เค้าค้นพบตัวเองว่าเราคือใคร และเค้าหลงใหลในความเป็นไทยอย่างไร รากเหง้าของเค้าเป็นอย่างไร และท้ายสุดก็จบชีวิตลงที่นั่น ซึ่งคนที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยนึกถึงตรงนั้นเลย ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นแก่นแท้ๆ แต่เราไปเน้นเรื่องพิศวาสระหว่างเมขลากับชนะชลเท่านั้น
พอเราอ่านใหม่จริง บรรยากาศเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มือถือก็ไม่มีในเรื่อง คอมพิวเตอร์ก็ไม่มี ไฟฟ้าในบ้านเรือนไทยก็ไม่มี ต้องปรับให้เยอะเพื่อที่จะให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เราก็เลยต้องปรับอะไรหลายๆ อย่างในบทประพันธ์ แต่ยังรักษารากแก่นแท้เอาไว้ว่าต้องการจะพูดอะไรกับคนอ่าน เพราะฉะนั้นเราต้องมีการสร้างตัวละครใหม่เกิดขึ้นมา มีการเปรียบเทียบระหว่างบ้านเมขลาที่บ้านสุพรรณบุรีกับบรรยากาศในกรุงเทพฯ ที่เป็นไฮเทค เพราะฉะนั้นตัวละครจะมี 2 ฝั่ง คือฝั่งหนึ่งที่จะอยู่กรุงเทพฯ แล้วอีกโลกหนึ่งคือโลกเล็กๆ โลกของบ้านเมขลาที่สุพรรณบุรีที่เค้ารักษาความเป็นไทยไว้ ตัวเมขลาเองเป็นตัวที่เชื่อมระหว่างโลกสมัยใหม่กับโลกสมัยเก่า เรื่องจะพูดถึงตัวละครที่ติดอยู่กับอดีต ทั้งที่ตัวเมขลาเองก็ติดอยู่กับอดีต ชนะชลเองก็ติดอยู่กับอดีต อดีตที่คลุมเครือมากที่ทั้งคู่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร
ประเด็นหลักมันก็คือพี่วาณิชกำลังพูดถึงโลกของวัตถุและโลกของจิตใจ บ้านที่สุพรรณเป็นบ้านที่เชื่อด้วยจิตใจ เป็นเรื่องที่เชื่อเรื่องวิญญาณ ขณะที่เมขลาอยู่ใน 2 โลกคือโลกของกรุงเทพฯ แล้วก็โลกของเก่า เธอจึงอยู่ในความก้ำกึ่งของโลกที่ทันสมัยมากและโลกที่เก่ามาก ส่วนชนะชลเองพยายามค้นว่าพ่อแม่จริงๆ ของตัวเองคือใคร เค้าไม่รู้ว่าพ่อแม่เค้าคือใคร เค้ารู้แต่ว่าเป็นเด็กที่ถูกขอมาเลี้ยงแล้วเค้าก็จมน้ำ จนไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้ภาคภูมิต้องพาเค้าไปที่บ้านหลังนั้น บ้านของเมขลาที่สุพรรณบุรี เค้าเกิดอาการเดฌาวู (Deja-Vu) เหมือนกับว่าเคยมาที่นี่ เค้ารักที่นี่ แล้วหลงใหลในความเป็นไทยที่นี่ จริงๆ ซึ่งอันนี้มันเป็นรายละเอียดที่ทุกเวอร์ชั่นของ "แม่เบี้ย" ไม่เคยพูดถึง และไม่พาลึกสู่ภูมิหลังของตัวละคร แต่จะไปเน้นเรื่องพิศวาส ความลึบลับของงู และความตื่นเต้นอย่างเดียว
จริงๆ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักหนังเรื่อง "แม่เบี้ย"
ก็จะบอกว่า จริงๆ ตอนนี้กี่เปอร์เซนต์ของคนดูภาพยนตร์รู้จักวรรณกรรม “แม่เบี้ย” เราว่าคนคงรู้จักแค่ 5 เปอร์เซนต์เองมั้ง ที่รู้จักจริงๆ เคยอ่านหนังสือจริงๆ หรือเคยดูหนังเก่าจริงๆ คนดูหนังเก่าเขาอายุเท่าไหร่ มันเทียบไม่ได้ เหมือน "แผลเก่า", "ชั่วฟ้าดินสลาย" ทุกอย่างเป็นศูนย์หมด ไม่มีใครจำดีเทลได้ จำเรื่องก็ไม่ได้ จำอะไรก็ไม่ได้สักอย่างเดียว หรือคุณไปจำอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็เอามาพูด ไปจำว่าชนะชล-เมขลา จำได้แค่นั้น แผลเก่าก็จำได้แต่ขวัญ-เรียมเท่านั้น แล้วคุณคิดว่าคุณรู้ คุณจำได้ ไม่ใช่เลย คุณจำได้แต่ขูดมะพร้าวจบ แต่การขูดมะพร้าวนั้นคือหนังเรื่อง "แม่เบี้ย" เหรอ มันคือแก่นแท้ของแม่เบี้ยเหรอ ไม่ใช่เลย มันเป็นหนึ่งฉากที่ขายนมผู้หญิงก็จบ ไม่มีความหมายลึกซึ้งอะไรเลย