Cemetery of Splendour ผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับที่ 8 ของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ ถูกคัดเลือกให้เข้าฉายในสาย Un Certain Regard ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ร่วมกับ 18 ภาพยนตร์น้ำดีจากนานาประเทศที่ถูกจัดให้ฉายอยู่ในสายนี้ด้วยเช่นกัน โดยเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา และได้รับเสียงปรบมือกึกก้องทั่วโรงภาพยนตร์ อีกทั้งยังได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกเป็นส่วนใหญ่ จากกลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์ระดับโลก
ร็อบบี้ โคลลิน นักวิจารณ์จาก Telegraph ระบุว่า นี่คือภาพยนตร์ที่กล่าวถึงการเดินทางที่น่าประหลาดใจ ส่วน เจสสิก้า เคียง จาก IndieWire ให้เกรด A สำหรับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับชาวไทยคนนี้ เช่นเดียวกับ จัสติน ฉาง จาก Variety ชื่นชอบภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกนำมาผสมผสานกับปัจจุบันและมนต์ขลังได้อย่างลงตัว
สำหรับ Cemetery of Splendour หรือ รักที่ขอนแก่น เป็นเรื่องราวของแม่บ้านวัยกลางคนที่โดดเดี่ยว พร้อมกับรับหน้าที่คอยพยาบาลและดูแลทหารนายหนึ่งที่กลายเป็นเจ้าชายนิทรา กระทั่งเขาจมดิ่งสู่ห้วงฝันที่หลอกหลอน นำไปสู่ภาพนิมิตอันแสนประหลาด ทั้งความรักและเรื่องลี้ลับ ที่เฝ้ารอคอยการฟื้นขึ้นจากภวังค์อีกครั้ง
ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ ยังได้คะแนนเฉลี่ยสูงถึง 8.45 จากเต็ม 10 คะแนน บรรดานักวิจารณ์ต่างจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มภาพยนตร์ประเภทดีเยี่ยม ได้คะแนนเป็นรองแค่เพียง "The Assassin" หนังจากจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น
ความผูกพันของพี่เจ้ยกับจังหวัดขอนแก่นถูกถ่ายทอดมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไงบ้าง
จริงๆ แล้ว ขอนแก่นเป็นเมืองที่ไม่น่าดูเลยนะ เป็นเหมือนเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยตอนนี้ที่เต็มไปด้วยห้าง ตึกแถว ซึ่งเราจะดูไม่ออกเลยว่าเป็นจังหวัดไหน แต่เราจำได้ว่าที่เราโตขึ้นมา เมืองไม่ใช่แบบนี้ เวลาเรากลับบ้านแต่ละครั้ง ความทรงจำเลยจะทับซ้อนกับอาคารที่เกิดขึ้นมาใหม่ หนังเรื่องนี้ก็เลือกอาคารสถานที่ที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะแสดงเป็นขอนแก่น เลือกที่กลางๆ เช่นตลาด บึงแก่นนคร เป็นสถานที่ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เราทำงานมาเยอะแล้วในประเทศนี้ แต่บ้านเกิดที่เราเติบโตคือขอนแก่น เรายังไม่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเลย ก็ดีที่จะใช้ขอนแก่นเป็นเรื่องปิดท้าย
ทำไมถึงตัดสินใจที่จะกำกับเรื่อง "รักที่ขอนแก่น" เป็นหนังไทยเรื่องสุดท้าย
นี่คือที่ตั้งใจไว้นะ แต่สุดท้ายอาจจะไม่ใช่ก็ได้ พี่รู้สึกว่าไทยมีขุมทรัพย์ที่เราทำงานกับมันมาเกือบ 20 ปี แต่ว่าก็ยังมีข้างนอกที่เราประทับใจอีกมาก และอยากท้าทายตัวเองว่าเราจะเชื่อมจิตวิญญาณกับพื้นที่ใหม่ๆ ได้ไหม ยังอยากทำหนังแบบเดิมแต่ว่าก็บอกไม่ได้ว่ามันจะออกมาเหมือนเดิมหรือเปล่า เพราะครึ่งหนึ่งคือตัวเราอยู่แล้ว แต่อีกครึ่งหนึ่งมันคือพื้นที่ใหม่ซึ่งมีประวัติศาสตร์ต่างกัน ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ต้องการ
พื้นที่ที่ว่าคือที่ไหน แล้วจะย้ายไปต่างประเทศเลยหรือเปล่า
จริงๆ พี่คงอยู่ที่ไทยเพราะยังทำงานศิลปะที่นี่ค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าภาพยนตร์ ตอนนี้มองไว้ที่อเมริกาใต้ อาจเพราะว่ามันมีสีสันคล้ายๆ เมืองไทย อารมณ์คนจัดจ้านคล้ายๆ กัน ค่อนข้างติดพื้นที่เยอะ แต่เมืองไทยถือว่าเป็นเด็กไปเลยในแง่ประวัติศาสตร์ เพราะที่อเมริกาใต้จะมีหลักฐานหรือความร่ำรวยทางอารยธรรมสานต่อไปได้เยอะมากๆ ย้อนไปสมัยอาณาจักรอินคา มายา
คลิปวิดีโอเรื่อง "รักที่ขอนแก่น" ที่ปล่อยออกมาก็เห็นว่าหนังแทรกความเชื่อแบบไทยๆ เข้าไปด้วย ทำไมถึงเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ ประวัติศาสตร์ของคนมากๆ และนำเสนอประเด็นนี้ตลอด
อาจเพราะเราโตที่ขอนแก่นซึ่งแต่ก่อนมันไม่ค่อยมีอะไร เพราะฉะนั้น ภาพยนตร์หรือนิยายวิทยาศาสตร์มันเป็นทางออกของเราที่จะจินตนาการให้พ้นไปจากตรงนั้น ทำให้เริ่มสนใจเรื่องความเชื่อ อิทธิพลของสิ่งที่เหนือจริงกับการดำเนินชีวิต รวมถึงโลกที่มันผสานกัน
คนไทยเราเชื่อว่าไม่ได้มีชีวิตอยู่ในระนาบเดียว แต่ว่ามีโลกของวิญญาณด้วย อย่างข่าวไหว้ต้นกล้วยอะไรพวกนั้น จินตนาการในการแต่งเรื่องเพื่อที่จะเชื่ออะไรบางอย่างนอกเหนือจากสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยประสาททั้งห้า คนไทยไม่แพ้ใคร มันทั้งน่าตื่นเต้น น่าเศร้า และน่าขบขันในเวลาเดียวกัน เราเลยเล่นกับระนาบที่ชนกันนี้ระหว่างโลกแห่งความจริง โลกแห่งความฝัน และโลกแห่งความเชื่อ
ตัวอย่างคลิปวิดีโอในเรื่อง "รักที่ขอนแก่น" ที่ปล่อยออกมาให้ชมกันแล้ว
"รักที่ขอนแก่น" เหมือนหรือแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ ยังไงบ้าง ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ บ้างไหม หนังทุกเรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากการใช้ชีวิตที่ไทย จากคนที่เรารัก ทั้งแฟน เพื่อน นักแสดงที่ทำงานมาด้วยกัน เรื่องนี้พิเศษที่เราหยิบแรงบันดาลใจมากจากป้าเจน เจนจิรา พงศ์พัศ (วิดเนอร์) ซึ่งทำงานมาด้วยกันตั้งแต่ปี 2001 ในเรื่องสุดเสน่หา (2002) แกเป็นผู้หญิงมหัศจรรย์มากสำหรับพี่ เป็นแรงบันดาลใจมากเรื่องความทรงจำของภาคอีสานที่แกโตขึ้นมา จะมีประวัติศาสตร์ที่เราไม่รู้มาก่อน เพราะว่าแกจำได้ทุกอย่างเลยตั้งแต่ทำงานกันมา แกจำได้ว่าวันนั้นเรากินข้าวอะไรกัน ในแง่นี้มันก็ตรงกับสิ่งที่พี่สนใจอยู่แล้วเรื่องความทรงจำของพื้นที่ ประวัติศาสตร์ ป้าเจนเป็นตัวแทนอย่างหนึ่งเลยแน่นอนที่จะต้องแทรกความทรงจำของป้าเจนเข้าไปเป็นระยะๆ ที่ทดลองน่าจะเป็นการที่เรายึดนักแสดงคนเดียวเป็นหลัก คือป้าเจน เรื่องอื่นเราจะเน้นคอนเซปท์มาก แต่เรื่องนี้จะเน้นอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า ทำให้หนังมีความหวาน มีความเป็นผู้หญิงเยอะถ้าเทียบกับเรื่องก่อนๆ
ที่สุดแล้วสิ่งที่อยากบอกในภาพยนตร์เรื่องนี้คืออะไร
ไม่มีมั้ง พี่จะยอมแพ้คำถามแบบนี้มาก เหมือนถามว่าเรามีจุดประสงค์อะไรกับการทำงานชิ้นหนึ่ง ของเราคือการได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งของชีวิต เราไม่ได้ต้องการอะไรเลยนอกจากจะแชร์ประสบการณ์การเติบโตในประเทศนี้ ว่าบางทีมันไม่สามารถสู้กับความจริงได้ 100% ไม่งั้นคุณจะเป็นบ้า คุณต้องเอาตัวเองหลบไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกของความฝันบ้าง ถึงจะเอาตัวรอดได้
สิ่งนี้หรือเปล่าที่ทำให้ "รักที่ขอนแก่น" ดูน่าสนใจในสายตาชาวต่างชาติ
พี่ว่ามันเป็นเรื่องการติดตามภาพยนตร์จากคนทำหนังคนหนึ่งมากกว่า ในเทศกาลคานส์ ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามีผู้กำกับหน้าเก่าหน้าใหม่ผสมกัน แต่หน้าเก่าจะมีหนังอยู่เรื่อยๆ มันคือพื้นที่ที่ผู้ชมจะได้ติดตามหนังของเรา พี่ทำหนังเหมือนไดอารี่ อารมณ์ความรู้สึกที่เรามองประเทศนี้เปลี่ยนไปยังไง เอามาฉายให้คนดูได้ติดตามไปเรื่อยๆ
แต่ยังไงก็ตาม เราจะทำหนังหน่อมแน้มไม่ได้ ต้องทำหนังที่เราเชื่อว่ามีคุณค่าในแง่ศิลปะภาพยนตร์หรือว่าทดลองกับภาษาภาพยนตร์ด้วย เทศกาลหนังมันเกี่ยวข้องกับการตลาดก็จริง แต่ก็ไม่ได้ 100% จะมีอีกส่วนที่ผลักดันให้วัฒนธรรมการสร้างภาพยนตร์ขับเคลื่อนไปได้ เพราะถ้าเขาคิดเรื่องการตลาด 100% ยังไงหนังเรื่องนี้ไม่มีทางได้ฉาย
แล้วคนไทยจะมีโอกาสได้ดูเรื่องนี้ไหม
คงต้องคุยกับทางโรงภาพยนตร์ดูก่อนว่ามันเป็นไปได้มากแค่ไหน เพราะต้องใช้เงินลงทุนเยอะเหมือนกัน
ลองมองดูทิศทางของหนังอินดี้ หนังอาร์ตในบ้านเราก็เริ่มมีกระแสความนิยมมากขึ้น พี่เจ้ยคิดว่าจะสามารถโตขึ้นไปได้กว่านี้หรือเปล่า
แน่นอน เพราะตอนนี้มันอยู่ในจุดที่เริ่มเข้าใจว่าตลาดหนังไทยถ้าร่วมมือกับโรงภาพยนตร์แล้ว เราจะไปได้สูงสุดเท่าไหน กะรายได้มาประมาณนี้ๆ ก็สรุปว่าอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจะเกิดบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์อย่างที่พี่ทำกับเพื่อน (Mosquito Film Distributions ร่วมกับคนในแวดวงภาพยนตร์หลายคน เช่น พิมพ์ผกา โตวิระ, อาทิตย์ อัสสรัตน์, ลี ชาตะเมธีกุล) คือบริษัทที่พยายามหาตลาดให้หนังไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลหนัง แต่ก่อนเราคิดว่าส่งหนังไปเทศกาลได้ก็ดีใจมากแล้ว แต่จริงๆ อย่างเทศกาลที่อเมริกาส่วนใหญ่จะเสียค่าสมัครด้วย เราก็จะไม่แนะนำเลยเพราะมันเสียเปล่า แต่ทางยุโรปหลายแห่งก็จะไม่มีค่าสมัคร วางแผนว่าจะพรีเมียร์หนังที่ไหนดีที่สุด ฤดูต่อไปจะเป็นที่ไหน ให้คนทำหนังได้เห็นผลตอบแทน
หนังไทยจะเริ่มขยายโหมดของการจัดจำหน่ายเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงช่องทางการฉายอย่างของไทยเองก็มีเคเบิ้ลต่างๆ หรือ online streaming ซึ่งพี่ว่ามันสร้างความหลากหลายให้ทั้งหนังอินดี้และหนังสตูดิโอ เพราะสุดท้ายแล้วหนังก็เป็นศิลปะการเล่าเรื่องที่ทำยังไงเราจะขายได้ มันเหมือนอาหารแต่ละประเภท คือต้องมีคนกิน แต่เราจะหาคนกลุ่มนี้ได้ที่ไหน ไม่ว่าเราจะทำหนังท้าทายขนาดไหนก็ต้องมีคนดู
อะไรคือสิ่งสำคัญที่พี่เจ้ยได้จากที่หนังของตัวเองมีโอกาสฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และได้รางวัลมาแล้ว
คงเป็นประสบการณ์ที่รางวัลนี้ทำให้เราได้ไปหลายๆ ที่ในโลกที่ไม่ได้คิดว่าจะได้ไป ได้รู้จักคนดูหนังที่หลากหลายมากๆ อย่างเช่นที่เปรู เขาจะมีชมรมที่ซื้อหนังแปลกๆ ไปฉายในหมู่บ้านห่างไกลบนภูเขาเราไม่คิดว่าจะได้พบอะไรอย่างนี้ เป็นโลกของภาพยนตร์ที่กว้างขึ้น มันก็จะเป็นกำลังใจให้เรามากกว่า หนังเราหลายคนอาจบอกว่าทำไปทำไม แต่เราเห็นแล้วว่ามีคนที่คอยดูและได้ประโยชน์จากมัน การที่เราถกประเด็นต่างๆ ในหนังมันทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำต่อ
ที่มา : krungthep.coconuts.co, sanook.com