ข่าว > ข่าวหนังทั้งหมด > ข่าวหนัง

เกร็ดหนังดีเรื่องน่ารู้ก่อนดู "She Said เสียงเงียบของเธอ" 1 ธันวาคมนี้

28 พ.ย. 2565 10:43 น. | เปิดอ่าน 1525 | แสดงความคิดเห็น
แชร์หน้านี้ แชร์หน้านี้
 
 
งานออกแบบโปรดักชั่น
She Said ทำให้ ลิปปินค็อตต์ ต้องสร้างฉากมากถึง 100 ฉาก ซึ่งเป็นฉากที่กินเวลานาน 20 ปี และกินพื้นที่ 3 ภูมิภาค ส่วนใหญ่มันถูกสร้างขึ้นในรัศมี 50 ไมล์จากนิวยอร์กซิตี้
 
งานกองถ่ายที่ 2 เกิดขึ้นในลอสแองเจลิส, เวนิส, อิตาลี และลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อสร้างฉากภายนอกและภายในที่มีการพูดถึงในภาพยนตร์เรื่องนี้ 
 
ลิปปินค็อตต์พยายามทำให้โทนสีของภาพยนตร์เรื่องนี้ดู “เรียบๆ ทึมๆ และดูร่วมสมัย” เพื่อสะท้อนความเป็นจริงของสำนักงาน New York Times และพื้นที่ส่วนตัวของทูฮีย์และแคนเตอร์ ซึ่งทั้งสองสถานที่ เธออธิบายว่ามัน “ดูร่วมสมัยและใช้งานได้ดีค่ะ” 
 
 
เสื้อผ้า
เช่นเดียวกับแง่มุมอื่นๆ ของ She Said ความสมจริงและความใส่ใจในรายละเอียดคือสิ่งที่ต้องมาก่อนในความคิดของทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เมแกน ทูฮีย์ และโจดี้ แคนเตอร์ ได้ส่งรูปของพวกเธอ ซึ่งถ่ายที่สำนักงาน ให้กับผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย บริตตานี่ โลอาร์ รวมไปถึงรูปถ่ายของพวกเธอในพิธีแจกรางวัลต่างๆ และในพื้นที่ส่วนตัวด้วย ทูฮีย์ยังส่งรูปถ่ายเสื้อผ้าที่เธอสวมไปเดทกับสามีของเธอเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นฉากที่ถูกใส่เอาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย “ทุกอย่างนั้นช่วยฉันสร้างเสื้อผ้าของพวกเธอแต่ละคนค่ะ” โลอาร์เล่า “การได้เห็นสิ่งที่คนๆ หนึ่งเลือกสวมใส่เพื่อไปทำงาน จากนั้นก็ชุดที่พวกเธอใส่ในช่วงวันหยุดสบายๆ ช่วยทำให้เราเข้าใจสไตล์ส่วนตัวของคนๆ นั้นได้เยอะทีเดียวค่ะ”
 
ผู้กำกับ มาเรีย ชเรเดอร์ และโลอาร์ เห็นตรงกันว่าเสื้อผ้าไม่ควรดู “สมบูรณ์แบบสไตล์ภาพยนตร์” จนเกินไป “ดังนั้น ผู้หญิงเหล่านี้มากมายหลายคนต้องเสี่ยงเปิดเผยอะไรมากมายตอนที่เราได้พบพวกเธอ บ่อยครั้งที่พวกเธอดูอ่อนแอและเครียดมาก ฉันอยากจะเข้าไปช่วยแสดงสิ่งนั้นค่ะ” โลอาร์กล่าว “ฉันจะเลือกเนื้อผ้าที่แสดงให้เห็นเหงื่อถ้าผู้หญิงมีเหงื่อออกในการสัมภาษณ์ หรือผ้าที่จะแสดงรอยยับย่น เพื่อช่วยนำเสนอว่า เมแกน, โจดี้ และนักข่าวคนอื่นๆ ต้องทำงานที่สำนักงานติดต่อกันเป็นเวลานานมากๆ”
 
บ่อยครั้งมากที่โลอาร์ใช้เสื้อผ้าซ้ำเดิม โดยเฉพาะสำหรับนักแสดงที่รับบทเป็น เมแกน ทูฮีย์ และโจดี้ แคนเตอร์ หรือในที่นี้ก็คือนักแสดงหญิง แครี่ มัลลิแกน และโซอี้ คาซาน “ในเวลานั้น โจดี้มีลูกสาวสองคนค่ะ และฉันก็อยากให้มันให้ความรู้สึกว่าเธอไม่ได้คิดถึงเรื่องเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่นัก แต่เธอจะคิดถึงสิ่งที่เธอพยายามจะทำให้สำเร็จมากกว่า” โลอาร์กล่าว “เมแกนเองก็เช่นกันค่ะ การเปิดเผยความจริงของเรื่องนี้กินเวลาในชีวิตของพวกเธอไปมากเลยค่ะในเวลานั้น”  
 
 
 
งานกำกับภาพ
ไบรเออร์ยกตัวอย่างผลงานของผู้กำกับภาพ กอร์ดอน วิลลิส ในภาพยนตร์เรื่อง All the President’s Men ว่ามีอิทธิพลสำคัญกับภาพของ She Said “(ภาพยนตร์เรื่องนั้นซึ่งประกอบไปด้วย) ภาพนิ่งๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ละชอตภาพได้รับการวางแผนและเตรียมการมาอย่างปราณีต แต่ก็ยังให้ความรู้สึกจริง ไม่ใช่ของปลอมค่ะ” ไบรเออร์อธิบาย “กล้องจะเคลื่อนที่ก็ต่อเมื่อมันจำเป็นต้องเคลื่อนที่เท่านั้น มันก็ได้รับแรงกระตุ้นจากอารมณ์หรือการพัฒนาไปของพลอตเรื่อง เทคนิคทางภาพยนตร์ก็ไม่ดึงความสนใจของคนดูไป แต่กลับทำให้คนดูอินไปกับความรู้สึกผูกพันแบบ ‘เพียวๆ’ ต่อความเป็นจริง ในเวลาเดียวกัน มันก็ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยค่ะ”
 
ไบรเออร์ยังดูสารคดีเรื่อง New York Times, The Fourth Estate เพื่อให้เข้าใจวิธีการทำงานในห้องข่าว และวิธีที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้นให้ดีขึ้นด้วย เพราะสำนักงานของ Times ไร้ผู้คนในช่วงเกิดโรคระบาด “เราจึงไม่สามารถใช้เวลาอยู่ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์แห่งนั้น และได้เห็นมัน ‘มีชีวิต’ ค่ะ” ไบรเออร์เล่า “(การนั่งดูสารคดีเรื่องนี้) คือหนทางเดียวสำหรับเราที่จะรวบรวมข้อมูล เพื่อให้สามารถสร้างพลังงานภายในอาคารแห่งนี้ในรูปแบบที่สมจริงได้” 
 
 
 
ทางทีมผู้สร้างยังได้ไปเยือนห้องข่าวอีกหลายครั้งก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในพื้นที่ และหาวิธีการที่พวกเขาจะจัดฉากต่างๆ ในสำนักงานแห่งนี้ “ข้อดีอย่างมากก็คือความจริงที่ว่าเราสามารถถ่ายทำอาคารที่โดดเด่นแห่งนี้ และสามารถจับภาพในแบบที่มันเป็นได้ค่ะ” ไบรเออร์กล่าว 
 
ข้อเสียอย่างเดียวในการไปถ่ายทำกันในสำนักงานของ Times ก็คือแสงไฟนีออนที่มีอยู่ในห้องข่าว ซึ่งมันส่งแสงโทนสีเหลืองออกมา ทีมงานเบื้องหลังต้องติดตั้งแสงไฟในแผนกวัฒนธรรม ที่ซึ่งทางกองถ่ายได้สร้างแผนกข่าวสืบสวนขึ้นมา “แต่เมื่อเราใช้พื้นที่สำนักงานด้านนอกพื้นที่แผนกสืบสวน ฉันต้องใช้แสงไฟที่มีอยู่ และพยายามเปิดรับแสงธรรมชาติตอนกลางวันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่ดลดโทนสีเหลืองออกไปค่ะ” ไบรเออร์อธิบาย “บางครั้งมันก็เหมือนเป็นเกมหมากรุก เพราะต้องวางหมากว่าจะผสมทุกอย่างเข้าด้วยกันได้ยังไงค่ะ” 
 
 
 
ดนตรีประกอบ
• ดนตรีประกอบที่โดนใจของ She Said เป็นฝีมือของ นิโคลัส บริเทลล์ (Moonlight, If Beale Street Could Talk, Don’t Look Up) ผู้เคยร่วมงานกับแพลนบีอยู่บ่อยๆ และเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สามรางวัล
 
• ผลงานดนตรีของบริเทลล์เข้ากันดีกับการเดินทางภายในใจของเหล่าตัวละคร รวมไปถึงสิ่งที่เป็นเดิมพันที่ใหญ่ขึ้น ช่วยร้อยเรียงอารมณ์อันหลากหลายของเรื่องนี้  ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจ ความหวัง ความกลัว และการปะทะกันของความฝันที่ถูกขโมยไป ทุกอย่างนี้สำเร็จได้ด้วยดนตรีออร์เคสตร้าที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ของบริเทลล์ และงานเดี่ยวเชลโล่ที่แสนไพเราะ ซึ่งแสดงโดยนักเชลโล่คนเก่ง เคทลิน ซัลลิแวน ผู้เป็นภรรยาของบริเทลล์ นี่คืองานดนตรีประกอบชิ้นแรกที่ บริเทลล์และซัลลิแวน ได้ร่วมโปรดิวซ์ด้วยกัน  
 
• นอกจากเพลงธีมเหล่านี้แล้ว บริเทลล์ยังแต่งดนตรีประกอบอีกหลายเพลงที่เกี่ยวพันกับงานสืบสวน และการสืบหาข้อมูลด้วย “มีงานเชลโล่แบบ ‘หมุนวน’ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสร้างความรู้สึกถึงความทรงจำและบาดแผลในใจที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเจอครับ” 
 
 
She Said เสียงเงียบของเธอ สร้างจากเหตุการณ์จริง
ที่จุดประกายการขับเคลื่อนในสังคมเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดในที่ทำงาน
พบกัน 1 ธันวาคม ในโรงภาพยนตร์
 
: เสียงเงียบของเธอ, She Said

 
 
 
ร่วมแสดงความคิดเห็น
 
ชื่อ :
 
ความคิดเห็น :