ผ่านกระแสความดราม่ามาทุกรูปแบบ ตั้งแต่ละคร "ร่านดอกงิ้ว" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ออกอากาศ ล่าสุดก็มาถึงตอนจบใน EP.33 ของวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 หลังจากที่กระแสสังคมต่างออกมา วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นบนโลกออนไลน์ ถึงขนาดจะขอแบนละครไทยในฉากที่ "พ่อแท้ ๆ ข่มขืนลูกสาว" ของหนุ่ม ออย-ธนา และสาว นนนี่-ณัฐชา เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แต่พอมาถึงบทสรุปตอนจบเรื่องราวกับพลิกอีกครั้ง เพราะความจริงแล้ว เป็นเพียงแค่ผลลวงที่ สร้อยสน (ยุ้ย จีรนันท์) หลอกให้ พิทูร (ออย ธนา) ต้องรู้สึกตกนรกทั้งเป็น ว่าตัวเองได้ข่มขื่นลูกสาวในไส้อย่าง ลูกศร (นนนี่ ณัฐชา) แต่ถึงกระแสดราม่าจะแรง ยอดคนที่ติดตามละครเรื่องนี้ก็แรงยิ่งกว่า ส่งผลให้ไลฟ์สดเพจเฟซบุ๊กช่อง 8 พุ่งทะยานขึ้นถึง 115K เรียกได้ว่าแรงแซงทุกดราม่าจริง ๆ
หากละคร "ร่านดอกงิ้ว" สะท้อนชีวิตจริงในสังคมไทย เรามาดูกันว่าละครเรื่องนี้สอดแทรกให้มุมมองแง่คิด ที่เป็นหลักของชีวิตในด้านใดได้บ้าง เริ่มจากตัวละคร "สร้อยสน" กับคำพูด เราเป็นผู้หญิงที่ต้องการความรัก ทั้ง ๆ ที่ความรักที่ดีที่สุด มันควรเกิดจาก "ความรัก ที่รักตัวเอง" ก่อน ไม่ควรปล่อยให้ความหลง กาม ราคะ ความแค้นมาทำร้ายตัวเราเอง คนที่เรารัก และคนที่เป็นห่วงเรา หากตีความจริง ๆ คนเราส่วนมากคาดหวังที่อยากได้ความรักจากคนอื่นมากเกินไป จนมันย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง คนรอบข้างที่รักเรา จนลืมไปว่าหากเราจะรักใครได้ดีนั้น เราต้องหัดรักตัวเองให้เป็นเสียก่อน
"เพนนี" กับคำพูด "ฉันเคยคิดนะว่าแกเป็นเพื่อนฉัน แต่ไม่มีใครอยู่ข้างฉันเลย เราตายไปด้วยกันนะเพื่อน" และ "พิทูร คุณเคยรักเพนนีบ้างไหม" หากใครที่ได้ดูละครเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ชีวิตของเพนนีค่อนข้างมีชีวิตที่ดี แต่เสียอย่างเดียว คือการได้รับความจริงใจจากคนรอบข้าง จนต้องใช้เงินฟาดหัวให้ได้มิตรภาพกลับมา หากตีความแง่คิดที่ได้ แม้เงินจะซื้อความสุขหลายอย่างมาให้ แต่สิ่งเดียวที่ซื้อไม่ได้ คือ ความรัก เวลา ชีวิต และมิตรภาพที่แท้จริง เพราะความจริงใจ ต้องมาจากความจริงใจจริง เพราะเงินก็ซื้อความจริงใจไม่ได้
สุดท้ายต้นตอของความร่านทั้งมวลอยู่ที่ตัวละครชื่อ "พิทูร" ผู้ชายที่อยากมีลูกทั้งชีวิตกับคำพูดที่ว่า "สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดในชีวิต ผมอยากให้ศรได้รับความรักจากพ่อ ในแบบที่ผมไม่เคยได้รับเลย" แง่คิดที่สอดแทรกในตัวละครตัวนี้ก็คือสติ หากพิทูรมีสติในทุกการกระทำของตัวเอง และมีสติที่ดึงตัวเองออกมาจากความยาก ที่จะทำความผิด หากเขารักคนที่รักเขามากกว่านี้ เรื่องความแค้นคงไม่เกิดขึ้น ดังคำสอนที่ว่า "ผู้ใดมีสติรักษาจิตไว้ได้ ก็จะพ้นบ่วงแห่งมาร" เพราะพิทูรใช้ความอยาก นำสติ และความดี
ดังนั้นหากแฟน ๆ ละครได้พิจารณาดูถึงเหตุ และปัจจัยของแก่นแท้ และมรสุมต่าง ๆ ในละคร จะเห็นได้ว่าละครเรื่องนี้เป็นทั้งตัวอย่าง และแง่คิด ที่เป็นแก่นแท้สอนใจคนหลายอย่างอาทิ เวร ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร, บุญย่อมปกป้องรักษา และคุ้มครองคนดี และผู้ประพฤตดีเสมอ,ใช้จิตใจที่ชอบตำหนิผู้อื่น มาตำหนิตัวเอง ใช้จิตที่ชอบให้อภัยตัวเอง มาให้อภัยผู้อื่น, ความสุขเกิดจากจิตใจที่สะอาด และบริสุทธิ์ ฯลฯ หากดูละครย้อนดูตัวเอง และสังคม จุดจบของตัวละครทั้งหลายไม่ว่าจะเรื่องใด ก็จะเป็นตัวอย่าง เป็นตัวสะท้อนกฎแห่งกรรมชั้นดี ที่เราไม่ต้องลงมาทำด้วยกิเลสของตัวเอง แต่เพียงแค่ดูละคร ย้อนดูตัวเองที่แท้จริง ดังละคร "ร่านดอกงิ้ว"