ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าการไซเบอร์บูลลี่ หรือ “การกลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์” กำลังเป็นกระแสที่ถูกพูดถึง และเป็นภัยร้ายที่กำลังลุกลามไปยังสังคมวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป หรือแม้กระทั่งศิลปิน ดารา ต่างเคยพบเจอประสบการณ์การโดนไซเบอร์บูลลี่ เพราะทุกการกระทำบนโลกไซเบอร์เกิดได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส การกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่นจึงเป็นเรื่องง่ายด้วยเช่นกัน บางคนอาจมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก แต่สำหรับอีกหลายๆ คนมองว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ต้องรีบแก้ไข เพราะว่าการโดน
ไซเบอร์บูลลี่อาจจะสร้างบาดแผลในใจให้กับใครอีกหลายคน
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ทั้งนี้ กองทุนฯ ได้มีความห่วงใยต่อสังคม พร้อมทั้งรณรงค์ในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ได้ร่วมกับศิลปินแกรมมี่ ได้แก่ ลุลา – กันยารัตน์ ติยะพรไชย, แพท (วงเคลียร์) – รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย และ มุก – วรนิษฐ์ ถาวรวงศ์ ในฐานะของ “บุลคลสาธารณะ” กลุ่มคนที่มักตกเป็นเครื่องมือของการไซเบอร์บูลลี่จากสังคม ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์และวิธีรับมือ
ลุลา – กันยารัตน์ ติยะพรไชย เปิดเผยว่า
“เมื่อก่อนสิ่งที่โดนวิจารณ์บ่อยที่สุด ก็คือเรื่องเสียง ว่าทำไมลุลาต้องดัดเสียงหรือทำให้เป็นสไตล์การร้องไม่เต็มเสียง ถึงขั้นตั้งกระทู้โพสต์ในเว็บไซต์ ลุลาอ่านแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าโลกของดนตรีค่อนข้างกว้างไกลหลากหลาย แต่ทำไมคนถึงยึดติดอยู่ในอะไรเดิมๆ แต่ปัจจุบันคนมักจะวิพากย์วิจารณ์เรื่องของภาพลักษณ์ภายนอก เช่น เสื้อผ้า ทรงผม ลักษณะของลุลาในทางที่ลบตลอด ซึ่งเคยเสียใจกับคำพูดเหล่านั้นมาก แต่เมื่อมาคิดไตร่ตรองดีๆแล้ว อาชีพของลุลาคือการขายคุณภาพของการเป็นนักร้อง นั่นคือ เสียงเพลง และการแสดง สิ่งอื่นใดๆที่เค้าพูดในเชิงลบ ไม่ได้มีผลกับลุลาอีกแล้ว เพราะมันคือ ตัวเราทั้งหมด ถ้าลุลาไม่ได้เป็นแบบนี้ ลุลาก็คงไม่ใช่ลุลาค่ะ เพราะฉะนั้นอยากให้นึกถึงใจเขาใจเราไม่ใช่แค่ระบายอารมณ์ลงโซเชียลผ่านตัวอักษรเพื่อความสะใจ เพราะนิ้วที่กำลังพิมพ์ของคุณอาจสร้างความเจ็บปวดทางใจให้คนอื่น สังคมคงจะแย่ลงหากเราไม่ปรับทัศนคติให้ดีขึ้น ทุกคนควรได้รับกำลังใจและถูกยอมรับในสิ่งที่เราเป็น คิดต่างไม่ได้หมายความว่าเราเป็นตัวประหลาด แค่อย่าเป็นอันตรายต่อสังคมก็พอค่ะ”
แพท (วงเคลียร์) – รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย เปิดเผยว่า
“สำหรับเหตุการณ์ไซเบอร์บูลลี่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากคอนเสิร์ตงานนึงค่ะ คือมีช่างภาพสมัครเล่น เขาอาสามาช่วยถ่ายภาพ แล้วก็มีการใช้แฟลชใช้แสงที่อาจจะไม่ได้โปรมาก และเมื่อรูปเซ็ทนี้ถูกแชร์ออกไปในโซเชียล ทำให้มีคนมาแสดงความคิดเห็นเรื่องรูปลักษณ์ของเราต่างๆนานา ราก็มองเป็นเรื่องขำๆไป แต่ที่เราอ่านแล้วรู้สึกเสียใจ คือมีหลายคนคอมเมนต์บูลลี่ช่างภาพ ครั้งนั้นเราเลยรู้สึกว่าเราต้องออกมาพูด เพราะรู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับช่างภาพคนนั้น ถ้าเหตุการณ์นี้ทำให้เขากลัวการถ่ายภาพจนไม่กล้าหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายอีกเลย พวกคุณอาจกำลังทำลายอาชีพใคร อยากฝากถึงคนที่อาจพลั้งเผลอ ให้ลองคิดถึงใจเขาใจเรา เรารู้สึกว่าอะไรก็ตามที่ไม่กล้าพูดต่อหน้ากัน ก็ไม่ควรจะพิมพ์ลงไปในโซเชียล เพราะเราไม่รู้เลยว่า คอมเมนต์ที่เราพลั้งด่าออกไปจากอารมณ์ชั่ววูบ อาจทำลายชีวิตใครได้ และสำหรับผู้ถูกกระทำก็ต้องมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเพราะคนที่พิมพ์ เขาไม่รู้จักเราจริงๆ เขาไม่ได้มีผลอะไรต่อชีวิตจริงของเรา ถ้าคอมเมนต์นั้นเป็นประโยชน์ก็รับมาโดยที่ไม่ต้องรับอารมณ์เขามาด้วย เพราะชีวิตคนเรามันมีค่ามากเกินกว่าที่จะมานั่งรับพลังลบจากคนที่ไม่แคร์เราค่ะ”
มุก – วรนิษฐ์ ถาวรวงศ์ เปิดเผยว่า
“พอทำงานตรงนี้ แน่นอนว่าจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ สำหรับคนที่ไม่ชอบมุก เขาก็มักจะแสดงความคิดเห็นในทางที่ไม่ดี อาจจะใช้ถ้อยคำรุนแรง ใส่อารมณ์ ทำให้มุกรู้สึกไม่ดี แต่หากมุกใส่ใจกับคำวิจารณ์ในทางลบมากเกินไป ก็จะเกิดผลเสียกับตัวเอง เพราะช่วงแรกที่มุกเข้าวงการ ยอมรับว่าแทบจะอยู่ไม่ได้ เครียดมาก ไม่กล้าเล่นโทรศัพท์ เพราะเมื่อเห็นคอมเมนต์ที่ไม่ดี ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกเครียดและกังวล แต่พอถึงจุดที่ภูมิคุ้มกันของเราเริ่มแข็งแรงขึ้น วิธีของมุกก็คือพยายามที่จะไม่เก็บมาเป็นพลังลบให้กับตัวเอง มุกมองว่าเรื่องนี้เป็นมารยาททางสังคมนะคะ ซึ่งอาจจะมีคนบางกลุ่มที่ระรานคนอื่นทางโลกไซเบอร์มาโดยตลอด เพราะคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะคอมเมนต์อะไรก็ได้ ถ้าพูดในเรื่องของกฎหมาย การกระทำเหล่านี้ นับเป็นความผิด เพียงแต่หลายคนไม่ค่อยเอาความ ก็เลยยิ่งทำให้เป็นเรื่องที่ลุกลามกันไปในวงกว้าง มุกอยากให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์เรื่องการไซเบอร์บูลลี่อย่างจริงจังนะคะ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและคนที่เรารัก รวมถึงคนในสังคม ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการไซเบอร์บูลลี่อีกต่อไปค่ะ”