เป็นอีกหนึ่งละครดราม่าน้ำดีมีคุณภาพตีแผ่สถาบันครอบครัวที่พูดถึงกันทั้งประเทศ สำหรับละคร "บังเกิดเกล้า" ช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง34 ผลิตโดย เช้นจ์ 2561 แม้ว่าละครจะลาจอไปแล้ว แต่กระแสความประทับใจของละครเรื่องนี้ยังไม่จบ ทิ้งทวนด้วยซีนดราม่าหนัก ๆ จุก ๆ พร้อมข้อคิดสอนใจของการดำรงไว้ซึ่งสถาบันครอบครัว จนต้องยกให้เป็นละครสะท้อนปัญหาครอบครัวและสังคมแห่งยุคโควิด19 ซึ่งนอกเหนือจากแฟน ๆ ทางโลกออนไลน์ จะออกมาคอมเมนต์ชื่มชมละครเรื่องดังกล่าวแล้วนั้น อีกหนึ่งในหน่วยงานของภาครัฐที่ดูแลกำกับเกี่ยวกับสถาบันครอบครัว อย่าง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำโดย "คุณราภรณ์ พงศ์พนิตานนท์" ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ก็ได้ออกมาพูดถึงละคร "บังเกิดเกล้า" ว่า ส่วนตัวก็ได้มีโอกาสติดตามและรับชมละคร "บังเกิดเกล้า" เป็นเพราะกระเเสละครที่มีหลายคนพูดถึง ประจวบกับเป็นละครน้ำดีที่หยิบยกปัญหาของครอบครัวมาสะท้อนผ่านละคร ขอบคุณที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงในเรื่องสถาบันครอบครัว
“เห็นถึงความตั้งใจของการทำละครก็ได้ยินสื่อหลายสื่อ พูดถึงว่าละครบังเกิดเกล้าเป็นละครน้ำดี เป็นละครที่สะท้อนถึงปัญหาครอบครัว ซึ่งมันเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงในสังคมของเรา ทั้งเรื่องของปัญหาของครอบครัวที่แตกแยก มีการหย่าร้าง การอบรมเลี้ยงดูลูก ก็เป็นมุมที่ทางละครนำเสนอออกมาได้ดี มีบ้างมุมก็เข้าใจอยู่ว่าละครมันต้องมีครบรส ก็อาจจะมีอะไรหลากหลาย เพื่อดึงดูดความสนใจ อาจจะมีภาพของความรุนแรงบ้างฉากบ้างตอน ละครเรื่องนี้เป็น 13+ บ้างทีเด็กที่ต่ำกว่า13 อาจจะได้ดูโดยไม่มีผู้ปกครองมาชี้แนะชี้นำ อันนี้เป็นเรื่องที่ครอบครัวต้องช่วยกันใส่ใจดูแลตัวเด็กด้วย ซึ่งละครเรื่องนี้นำเสนอได้ดี ชีวิตครอบครัวของคนทั่วไป ไม่ได้มีขาวอย่างเดียว บ้างทีมันก็มีเทา ๆ ดำ ๆ คือครอบครัวมันคือความมีพัลวัต ปรับเปลี่ยนอยู่ ตามแต่ละยุค แต่ละช่วงที่แตกต่างกัน ซึ่งครอบครัวที่เดินไม่ถูกทาง ไม่ถูกแนว มันก็จะสะท้อนออกมา บทละครก็เป็นส่วนนึงที่ทำให้เราเห็นว่าการเชื่อมโยง การปูเรื่องมันสอดคล้อง ถือว่านำเสนอออกมาได้ดี”
นอกจากนั้นแล้วตัวแทนกระทรวง พม. “คุณราภรณ์” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบครัว ยังกล่าวอีกว่าละคร บังเกิดเกล้า คือตัวอย่างของการใช้ชีวิตครอบครัว ที่สามารถเอาปรับใช้ได้จริง
“ยอมรับว่าในเนื้อของละครนั้นเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงในสังคม ทั้งเรื่องของครอบครัวที่แตกแยก การอบรมเลี้ยงลูก ยอมรับว่ามุมนี้ทางผู้จัดละครและทีมงานเองก็ถ่ายทอดออกมาได้ดี แม้ว่าอาจจะมีภาพบางฉากบางตอน ที่ดูแล้วรุนแรงไปบ้างในสไตล์ของละครทั่วไป แต่โดยรวมถือว่าดี เพราะสตอรี่ของละครบังเกิดเกล้าเป็นการพูดถึงรากเหง้าสาเหตุของปัญหาว่ามาจากอะไร แล้วสุดท้ายผลของกรรมที่ทำเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเรียกว่าเหตุการณ์ในละครสอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง จากที่เราได้รับทราบมาในฐานะหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของครอบครัวและสตรี
ละครเรื่องนี้มันใกล้เคียงกับปัญหาปัจจุบัน เพราะปัญหาปัจจุบันเรื่องความรุนแรง เป็นเรื่องที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวให้ความสำคัญมาก ในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสากลที่เป็นกันอยู่ทั่วโลก และเราก็มี พรบ.ที่จะคุ้มครองผู้ที่ทุกกระทำจากความรุนแรง ซึ่งบ้างท่านก็ไม่ทราบว่าการกระทำความรุนแรงทางร่างกาย ตบตี ความรุนแรง และ ทางวาจา ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศในครอบครัว ก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย หลายคนอาจไม่ทราบ ทุกคนเมื่อพบเห็นความรุนแรงก็สามารถแจ้งได้ ให้ดำเนินการยุติความรุนแรง เราจะเห็นได้ว่านำเสนอเรื่องการทำลายร่างกายเพศหญิงคือสิ่งที่ไม่ควรมี เราสามารถเอาไปคิดและปรับใช้ได้ว่าความรุนแรงต้องลดน้อยลง”
ปิดท้ายด้วยความคิดเห็นส่วนตัวว่าละครน้ำดี “บังเกิดเกล้า” ช่วยเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญให้กับหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลได้อย่างดีเยี่ยม
“สำหรับการผลิตละครบังเกิดเกล้า ละครน้ำดีเพื่อสถาบันครอบครัวก็เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ เพราะลำพังเองภาครัฐไม่ได้มีงบประมาณ หรือช่องทางเยอะมากมาย ที่จะเข้าถึงสื่อสังคม สื่อออนไลน์นะคะ หรือสื่อทีวี สื่อทีวีดิจิตอล ละครก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นทางเลือกให้ประชาชนได้เข้าถึง ถ้าเค้าได้เสพได้เข้าถึง กับละครที่มีคุณภาพ อาจจะกระตุ้น ย้ำให้เค้าเห็น หรือกลับไปมองที่ตัวเอง หรือมองที่ครอบครัว ให้เราให้ความสำคัญกับครอบครัวมากยิ่งขึ้น ครอบครัวเรามีปัญหามั้ย เราเข้าใจกันในครอบครับหรือเปล่า การที่เค้ากระทำแบบนั้นเป็นเพราะอะไร เกิดความเข้าอกเข้าใจ เห็นใจกัน และให้อภัยกัน ก็น่าจะทำให้สังคมดีขึ้น”