แม้กระแสรีวิวจะไม่ได้เปรี้ยงปังอลังการเท่ากับ Train to Busan (2016) แต่การกลับมาของ Peninsula ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด มันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผู้คนยังโหยหาในการเสพหนังซอมบี้ แม้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายบนโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่ง Peninsula สามารถกวาดรายได้ในเกาหลีใต้ไปได้ถึง 27 ล้านเหรียญภายในเดือนเดียว ขณะที่ในไทยก็กอบโกยเงินไปแล้วกว่า 51 ล้านบาท และปัจจุบันก็เพิ่งจะเข้าฉายในอเมริกาไปหมาด ๆ
"ธีมของหนัง Peninsula มันเป็นการตั้งคำถามว่าเราจะสามารถสร้างความหวังบนโลกที่มีการแบ่งแยกและเต็มไปด้วยความสิ้นหวังได้ยังไง ผมเชื่อว่าคำถามนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากในทุกวันนี้เลยนะครับ" ผู้กำกับ-เขียนบท ยอนซังโฮ กล่าว "ผมคิดว่าประเด็นนี้มันน่าจะดังกังวานอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คนทุกวันนี้ครับ"
"หลังจาก Train to Busan ผมได้ลองคิดไตร่ตรองถึงคำถามที่ว่า 'ผมจะสามารถสร้างสรรค์หนังสักเรื่องที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ยังต้องรักษาโลกใบเดิมเอาไว้ได้ยังไง?'" ยอนซังโฮ เสริม "คำตอบของคำถามนั้นก็คือ 'รวมเอาพวกซอมบี้กับพวกหัวขโมยมือไวเข้ามาไว้ด้วยกันมันซะเลยสิ!' และต่อจากนั้นเราก็เลยได้เข้าใกล้ความเป็น Peninsula ที่เป็นหนังแอ็คชั่น และใส่ฉากขับรถไล่ล่าฟอร์มยักษ์มารวมเอาไว้ด้วย ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือการพยายามที่จะจัดการกับปัญหาที่ว่าเราจะต้องถ่ายทอดสภาพของเกาหลีที่พังย่อยยับในช่วง 4 ปีหลังจากไวรัสซอมบี้ระบาดออกมายังไง ทุนมันไม่ได้น้อยนะ แต่มันก็ไม่ได้มากพอที่จะทำให้เราบรรลุวิสัยทัศน์ในการที่จะเนรมิตเมืองพังพินาศออกมาได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการหาทางออกแบบเมืองที่โดนทำลายล้างอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วจากนั้นก็ต้องตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดที่จะถ่ายทำมันออกมา ผมใช้เวลาช่วง Pre-production สำหรับ Peninsula ไปเยอะกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ เลย เพื่อที่จะทำงานในส่วนนั้นออกมา"
นอกจากนี้ ยอนซังโฮ ยังบอกอีกว่ามันยังมีช่องว่างให้ทำหนังในจักรวาล Train to Busan ตามออกมาได้อีกเยอะเลย "ตั้งแต่เริ่มจนมาถึง Peninsula ผมคิดว่าโลกของ Train to Busan มันยังขยายวงกว้างออกไปได้อีก ผมคิดว่ามันยังมีผู้รอดชีวิตอีกหลาย ๆ คนที่อาศัยอยู่บนคาบสมุทร ผมอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของคนเหล่านั้น ผมอาจจะไม่ได้เป็นคนกำกับหนังเรื่องต่อไปด้วยตัวเอง แต่ผมก็อยากจะเริ่มทำหนังใหม่อีกสักเรื่องภายในกรอบโครงร่างนี้"
ที่มา: Ew.com