ตั้งแต่เริ่มต้น “Planes: Fire & Rescue” ก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้างความแปลกใหม่ “ไม่เพียงแต่มันจะเป็นหนังวิชวล เอฟเฟ็กต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยสร้างมาในดิสนีย์ตูน สตูดิโอส์เท่านั้น” ผู้อำนวยการสร้างเฟอร์เรล บาร์รอนกล่าว “ไม่มีใครเคยพยายามจะสร้างหนังอนิเมชันที่มีไฟสเกลขนาดนี้มาก่อน ทั้งขนาด สโคป สเกลและความถี่ของควันและไฟในหนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่พิเศษสุดจริงๆ ดังนั้น สิ่งแรกที่เราต้องทำคือเจาะเข้าไปในแง่มุมเอฟเฟ็กต์ของเรื่อง เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องนำเสนอภาพไฟให้ออกมาใช่ มันจะต้องสมจริงครับ”
จอห์น แพตตัน ได้รับทาบทามให้เป็นหัวหน้าทีมเอฟเฟ็กต์ อนิเมชันในเรื่อง “ในบรรดา 1244 ช็อตในหนังเรื่องนี้ จำนวนกว่าครึ่งจะมีเอฟเฟ็กต์ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นไฟ ควัน น้ำ และ ‘ไฟ’ ก็อยู่ในชื่อเรื่องของหนังเรื่องนี้ มันเป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่อง ทำให้เราต้องทำให้แน่ใจว่าเราจะนำเสนอมันได้อย่างถูกต้องน่ะครับ”
ดังนั้น ทีมงานก็เลยศึกษาศาสตร์ของไฟผ่านทางการค้นคว้าออนไลน์ หนังสือและพูดคุยกับพนักงานดับเพลิง แพตตันกล่าวว่า “เราได้ศึกษาฟุตเตจไฟจริงๆ เพื่อทำความเข้าใจว่ามันจะมีลักษณะอย่างไรจากระยะต่างๆ และด้วยความแรงที่แตกต่างกันไป ตัวแปรมากมาย ทั้งแหล่งของเชื้อเพลิง อากาศ และขนาด จะส่งผลต่อลักษณะของไฟครับ”
ทีมผู้สร้างตัดสินใจสร้างคลังควันและไฟ ด้วยการสร้างมากกว่า 80 เอฟเฟ็กต์ด้วยมากกว่า 800 เฟรม ที่นักวาดภาพเอฟเฟ็กต์จะสามารถเลือกและปรับให้เหมาะกับความจำเป็นในแต่ละฉากได้ พวกเขาสามารถเลือกและปรับควันที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ด้วย “ไอเดียของเราคือการสร้างและถ่ายทำไฟจากระยะห่างต่างๆ ด้วยรายละเอียดที่แตกต่างกันไป” แพตตันกล่าว “ไฟแต่ละแบบใช้เวลานานมากๆ ดังนั้น แทนที่จะปรับเปลี่ยนมันทุกครั้ง เราก็เลยสร้างไฟแบบต่างๆ ที่จะถูกใช้ในแต่ละฉากด้วยเอฟเฟ็กต์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป”
แต่ไฟทั้งหมดในเรื่องก็ไม่ได้มาจากคลังเอฟเฟ็กต์นั่นเสมอไป แพตตันกะประมาณว่าไฟครึ่งหนึ่งในเรื่องถูกออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ “ถ้ามันเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการกำกับศิลป์พิเศษจากผู้กำกับ ลุค การเคลื่อนไหวหรือจังหวะที่เฉพาะเจาะจง เราก็จะสร้างการจำลองการเคลื่อนไหวพิเศษขึ้นมา”
นอกจากนั้น ทีมผู้สร้างยังต้องระวังระดับของแสงที่ไฟแต่ละครั้งจะสร้างขึ้นมา โดยพิจารณาถึงช่วงเวลาของวันและสโคปของไฟ แพตตันกล่าวว่า “ในซีเควนซ์หุบเขาออเกริน ที่มีเปลวเพลิงขนาดใหญ่ เราต้องระวังกับการที่ทำให้ทุกอย่างเป็นสีแดงหรือสีส้มทั้งหมด เราอยากให้มันดูอันตราย แต่ไม่บดบังแอ็กชันน่ะครับ”
ซีเควนซ์ไคลแมกซ์ยังรวมถึงช็อต 571 เฟรมด้วย แพตตันกล่าวว่า “ดัสตี้บินผ่านสิ่งที่เราอยากเรียกว่า ความตระการตาทางเอฟเฟ็กต์ น้ำ ควันและเอฟเฟ็กต์สร้างบรรยากาศอย่างควันและขี้เถ้า และลงเอยไปอยู่ในหุบเขาที่ถูกเผาไหม้ด้วยเปลวเพลิง มันเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับทีมงาน แต่ทุกอย่างก็ประกอบเข้าด้วยกัน ทั้งแสง การบิน การจัดวางองค์ประกอบของกล้องและเอฟเฟ็กต์ ผมคิดว่าทุกคนภูมิใจกับช็อตนั้นครับ”
นอกจากนั้น ทีมเอฟเฟ็กต์ยังได้รับหน้าที่ในการสร้างน้ำที่เคลื่อนไหวสำหรับ “Planes: Fire & Rescue” ที่มีเอฟเฟ็กต์น้ำที่หลากหลาย ซึ่งมีทั้งน้ำตก สายยางพ่นน้ำ การหย่อนน้ำ การโฉบบนทะเลสาบและธารน้ำไหลเชี่ยว ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับฉากสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ดัสตี้ ประสบปัญหาทางเครื่องบน และตกอยู่ในธารน้ำ “ธารน้ำเป็นหนึ่งในความท้าทายเชิงเทคนิคชิ้นใหญ่ที่สุดสำหรับพวกเรา” แพตตันกล่าว “ดัสตี้มีปฏิสัมพันธ์กับเอฟเฟ็กต์ ดังนั้น มันก็เลยมีผลต่อกันและกัน มันเป็นสถานการณ์ทำนองที่ว่า ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน คุณจะสร้างอนิเมชันหรือเอฟเฟ็กต์ก่อนล่ะ”
ดัสติน แม็คเคย์ นักวาดภาพเลย์เอาท์/พรีวิส ทำงานใกล้ชิดกับทีมเอฟเฟ็กต์ในการเนรมิตซีเควนซ์นี้จากคอนเซ็ปต์ให้เป็นจริง “ธารน้ำแต่ละสายจะต้องอาศัยแบบดีไซน์ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อนำเสนอประเด็นของเรื่องราว ท้ายที่สุดแล้ว เราได้เพิ่มองค์ประกอบของฉากตามแม่น้ำเข้าไป จากลุคของธารน้ำไปสู่การวางตำแหน่งของก้อนหิน และโลเกชันของต้นไม้ที่ทำให้เบลดไม่สามารถช่วยเหลือดัสตี้ได้”
ทีมเอฟเฟ็กต์ อนิเมชันร่วมมือกับอนิเมเตอร์ในการออกแบบฉากไคลแมกซ์ ที่มีการทำลายล้างสะพานสูงในหุบเขาออเกริน “ตัวละครถูกสร้างภาพอนิเมชันขึ้นมาพร้อมๆ กับสะพานครับ” แพตตันกล่าว “มันมีภาพวาดที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ที่ผู้กำกับและผู้กำกับศิลป์รวมกันวาดขึ้นมา เพื่อนำเสนอรายละเอียดว่า สะพานควรจะพังยังไง เราได้รับภาพอนิเมชันคร่าวๆ ของการทำลายสะพานจากทีมอนิเมชัน และต่อยอดจากนั้น ทั้งการทำลายแผ่นไม้กระดานและเพิ่มชิ้นส่วนซากปรักหักพังเข้าไปครับ”
“เราคาดหวังว่าจะขัดเกลาเอฟเฟ็กต์ในหนังเรื่องนี้ให้เพอร์เฟ็กต์จนถึงวินาทีสุดท้ายของการถ่ายทำ เราขอร้องอะไรมากมายจากทีมเทคนิคและทีมศิลป์ครับ” บาร์รอนกล่าว “แต่พวกเขาร่วมมือกันจริงๆ และทำงานนี้ได้สำเร็จในแบบที่จะทำให้ผู้ชมต้องอึ้งครับ”