เพราะหนังดี ๆ มักมากับข้อคิดชีวิตดี ๆ.. และเนื่องด้วยวันที่ 20 กันยายนของทุกปีเป็นวันเยาวชนไทย เราเลยมีหนังดีทั้งหมด 5 เรื่องมาแนะนำให้กับวัยรุ่นทั้งหลายได้ดูกัน รับรองว่าแต่ละเรื่องนั้นอุดมไปด้วยข้อคิดในการตัดสินใจดำเนินชีวิต ยิ่งถ้าชวนครอบครัวมาดูด้วยกันได้บอกเลยว่าคุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจลูก ๆ มากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
“แค่เพราะลูกไม่สวยแซ่บเหมือนนางแบบในนิตยสาร ไม่ได้แปลว่าลูกไม่สวยในแบบของตัวเอง”
1.13 Going on 30 (2004)
สำหรับคนส่วนมาก อายุ 13 เหมือนกับเพิ่งผ่านมาเมื่อวาน สำหรับ เจนน่า ริงก์ มันคือ เมื่อวาน จริง ๆ... ในปี 1987 เจนน่าคือเด็กหญิงอายุ 13 ปี ที่กำลังจะกลายเป็นผู้หญิงเต็มตัว ปัญหาก็คือ ความเป็นผู้ใหญ่ดูจะมาถึงไม่ทันใจเธอ เจนน่ารู้สึกอึดอัดกับพ่อแม่ที่แสนซื่อของเธอ แถมเด็กเจ๋ง ๆ ในโรงเรียนก็เชิดใส่ หนุ่มหล่อที่เธอแอบปิ๊งส์ แทบไม่รู้จักชื่อของเธอด้วยซ้ำ เจนน่าที่ไม่อยากจะคบอยู่แต่กับ แม็ตต์ แฟลมฮาฟฟ์ เพื่อนซี้ที่เป็นเพื่อนบ้านของเธอ จัดการชวนเด็กเท่ ๆ มาร่วมงานวันเกิดปีที่ 13 ของเธอ แต่งานวันเกิดกลับกลายเป็นหายนะ เจนน่าต้องอับอายเมื่อเธอถูกขังอยู่ในตู้ขณะเล่นเกมส์ "เจ็ดนาทีบนสรวงสวรรค์" และทุกคนทิ้งเธอไว้แบบนั้น ขณะอยู่คนเดียวในตู้ เจนน่าได้อธิษฐานขอพรว่า ถ้าเธอสามารถโตเป็นผู้ใหญ่ได้เดี๋ยวนั้น เธอจะมีชีวิตในแบบที่เธอต้องการเสมอมา ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น... คำขอของเธอกลายเป็นจริง!
เรื่องนี้เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์แสดงน่ารัก สอนให้รู้ว่าจริง ๆ ความเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย มันอยู่ที่จิตใจและความคิดข้างในมากกว่า เพราะถึงนางเอกจะร่างกายเป็นผู้ใหญ่อายุ 30 ยังไง จิตใจก็เป็นเด็กซน ๆ เหมือนเดิม หมายความว่าคนเราไม่ต้องรีบโตก็ได้ เดี๋ยวชีวิตและประสบการณ์จะสอนเราไปตามที่เหมาะที่ควรเอง
“จะทำการใหญ่ใจต้องเหี้ยม ต้องเหี้ยมนะ ถ้าม.ม้าหายนี่ฉิบหายทันที”
2.Final Score (2007)
เรื่องราวการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คน ในช่วงปีการศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้การสอบแอดมิดชันส์ แทนการสอบเอ็นทรานซ์ และชีวิตที่ถูกฟันธงของเด็ก ปี 2549 ปีนี้ไม่เหมือนปีไหน ๆ เพราะมันเป็นปีที่ปฏิทินการเมืองร้อนระอุด้วยม็อบกู้ชาติ ปีที่ใคร ๆ ก็ถามไถ่ "ไปพารากอนมารึยัง?" ปีที่ขวัญและกำลังใจของนักเรียน ม.6 แหลกสลาย เมื่อพระพรหมเอราวัณถูกทุบทำลาย ที่สำคัญมันเป็นปีแรกของการประกาศใช้ระบบแอดมิชชั่นส์ ในปีนี้... วัยรุ่นไทยวัย 17 ที่อยากเอ็นทรานซ์ต้องสอบ โอเน็ต-เอเน็ต สดจากโรงเรียน กองถ่ายภาพยนตร์สุดอึดจาก GTH ทุ่มเทเวลา 1 ปีเต็มเฝ้าติดตามชีวิตของนักเรียน ม.6 จำนวน 4 คนในปีที่พวกเขาก้าวเข้าสู่สนามการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต โดยไม่รู้ว่าพระเจ้าจะดลบันดาลใจให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
เล่าถึงช่วงวัยเรียน วัยสอบเข้ามหาลัยของวัยรุ่น ได้เห็นความคิดมุมมองแปลกใหม่ของเด็ก 4 คนที่ไปตามติดชีวิตเขา สอนให้รู้ว่า ได้ติดมหาลัยดัง ไม่ได้ดีเท่าได้เรียนในสิ่งที่ชอบ นอกจากเรื่องการเรียนหนังยังนำเสนอด้วยว่า การสนับสนุนจากครอบครัวนั้นเป็นหนึ่งในกำลังใจสำคัญของเด็กในวัยนี้มากเช่นกัน
“ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง.. เพื่อนสนิทจากไป.. ชีวิตไม่เคยหยุดนิ่งให้เราเลย”
3.The Perks of Being a Wallflower (2012)
ขอต้อนรับสู่ปี ค.ศ.1991 ชาร์ลี (โลแกน เลอร์แมน) เป็นเด็กหนุ่มขี้อายและไร้เดียงสา เขาเปรียบเสมือนดอกวอลล์ฟลาวเวอร์ มักที่จะเฝ้ามองและสังเกตุผู้คนโดยที่ไม่มีใครรู้ตัว จนกระทั่งรุ่นพี่สองคนได้รับเขาเข้ามาเป็นพวกเดียวกัน นั่นก็คือสาวจิตใจอิสระ แซม (เอ็มม่า วัตสัน) และลูกพี่ลูกน้องที่เปิดเผยทุกอย่าง แพทริก (เอสร่า มิลเลอร์) ที่ช่วยให้ ชาร์ลี ได้พบกับมิตรภาพ รักครั้งแรก การค้นพบตัวเอง และภารกิจในการตามหาเพลงที่หล่อหลอมชีวิต ในขณะเดียวกัน คุณครูภาษาอังกฤษของเขา มร. แอนเดอร์สัน (พอล รัดด์) ก็ได้แนะนำให้เขารู้จักกับความงามของวรรณกรรม ซึ่งทำให้เขาอยากที่จะเป็นนักเขียน
แต่เมื่อ ชาร์ลี มุ่งหน้าเข้าสู่โลกของการเติบใหญ่ ความเจ็บปวดในอดีตก็ถูกขุดขึ้นมา เมื่อ ไมเคิล เพื่อนสนิทของเขาฆ่าตัวตาย และการจากไปอย่างกระทันหันของป้าอันเป็นที่รักของเขา รวมถึงเพื่อนเก่าของเขาที่วางแผนจะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ทั้งหมดนี้ทำให้โลกของ ชาร์ลี เริ่มสั่นคลอน และทำให้รากฐานแห่งตัวตนของเขาก็จะเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจของเขาทั้งหมด
การกระทำในปัจจุบันย่อมเป็นอดีตในภายภาคหน้า และอนาคตของเรานั้นย่อมกลายเป็นปัจจุบันและอดีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์เลวร้ายยังไง หากอยากมีชีวิตอยู่ต่อ เราก็ต้องรับมือแล้วก้าวเดินต่อไปให้ สำคัญคือรับความจริง และอย่าลืมว่าช่วงเวลาที่คุณคิดว่าแย่ที่สุด ยังมีคนรอบข้างที่เป็นห่วงและพร้อมรับฟังคุณเสมอ
“การร้องไห้ทำให้ฉันใจเย็นลง แล้วก้าวข้ามปัญหาชีวิตไปได้”
4.Inside Out (2015)
ในศูนย์บัญชาการ ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมภายในความคิดของไรลีย์ เด็กหญิงวัย 11 ขวบ อารมณ์ทั้งห้ากำลังทำงานอย่างหนัก พวกเขานำทีมโดย ความสุข ผู้มองโลกในแง่ดี ภารกิจของเธอคือการทำให้แน่ใจว่าไรลีย์จะมีความสุขอยู่เสมอ ความกลัวคอยดูแลเรื่องความปลอดภัย ความโกรธคอยรับประกันความยุติธรรม และความรังเกียจที่คอยป้องกันไม่ให้ไรลีย์ต้องบอบช้ำ ทั้งทางร่างกายและสังคม ความเศร้าไม่ค่อยแน่ใจว่าหน้าที่ของเธอคืออะไร และพูดตรงๆ เลยว่า คนอื่นก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
เรื่องนี้สอนได้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ให้เข้าใจกับการจัดการอารมณ์ วัยรุ่นหรือคนที่อารมณ์เหวี่ยง ๆ ควรดู จะทำให้เข้าใจทั้งตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น สิ่งสำคัญคือสอนความจริงของชีวิตด้วยว่า คนเราไม่สามารถมีความสุขตลอดเวลาได้หรอก บางทีการร้องไห้ออกมาบ้างก็ช่วยให้จิตใจเราผ่อนคลายได้เหมือนกัน
“พอกันทีกับความกลัว พอกันทีกับการอยู่ในโลกที่ไม่ได้เป็นตัวเอง ผมคู่ควรกับความรักที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน”
5.Love, Simon (2018)
ทุกคนควรจะมีเรื่องราวความรักอันงดงามของตัวเอง แต่สำหรับ "ไซมอน สไปเออร์" หนุ่มน้อยวัยสิบเจ็ดปีนั้นซับซ้อนกว่า เขาไม่เคยบอกใครว่าเขาเป็นเกย์ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อน ๆ และเขาไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเพื่อนร่วมห้องนิรนามที่เขาตกหลุมรักในโลกออนไลน์นั้นคือใครกันแน่ การแก้ปัญหาทั้งสองข้อนั้นก่อให้เกิดเรื่องราวอันแสนสนุกสนาน น่าหวาดหวั่น และเปลี่ยนชีวิตในเวลาเดียวกัน
เรื่องนี้น่ารัก สอนให้รักตัวเอง เคารพตัวเอง บอกว่าความรักเป็นสิ่งสวยงามไม่จำกัดเพศ และบอกว่าการสนับสนุนจากครอบครัวคือที่พึ่งที่ดีที่สุดของเด็ก ๆ ในช่วงวัยรุ่นจริง ๆ หนังเชื่อมโยงกับวัยรุ่นที่ไม่กล้าเปิดเผยรสนิยมของตัวเองได้