สวัสดีเพื่อนๆ ชาวหนังดีดอทคอม วันนี้เว็บมาสเตอร์มีหนังรักแบบไม่จำกัดเพศสองเรื่องมาแนะนำ กับภาพยนตร์เรื่อง The Danish Girl - เดอะ เดนนิช เกิร์ล และ Carol – รักเธอสุดหัวใจ หนังทั้งสองเรื่องเป็นหนังดีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งด้วยตัวบท องค์ประกอบ และ นักแสดงล้วนแต่ได้คนเก่งมากฝีมือมาร่วมงานกัน การันตีด้วยการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งตัวนักแสดงและตัวหนัง เรามารู้เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของหนังทั้งสองเรื่องกันดีกว่า
The Danish Girl - เดอะ เดนนิช เกิร์ล เข้าฉาย 4 กุมภาพันธ์ 2016 คือเรื่องราวความรักที่โดดเด่นซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของ ลีลี่ เอลเบ และเจอร์ด้า เวเกเนอร์ ซึ่งรับบทแสดงโดย เอ็ดดี้ เรดเมย์น และอลิเซีย วิกันเดอร์ จากฝีมือการกำกับของผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ เรื่องราวของสองจิตรกร ไอนาร์ เวเกเนอร์ แต่งงานกับเจอร์ด้า เวเกเนอร์ ทุกอย่างเริ่มต้นเปลี่ยนไปในวันหนึ่งเมื่อถึงเส้นตายที่จะต้องส่งผลงานภาพพอร์เทรต เจอร์ด้าได้ขอให้สามีของเธอมาเป็นแบบให้ โดยให้เขาใส่ชุดของผู้หญิงเพื่อให้เธอสามารถวาดภาพนั้นจนเสร็จ ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อไอนาร์รู้สึกตัวว่าการได้เป็น ลิลี่ คือการแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงของเธอ และเธอเริ่มใช้ชีวิตแบบผู้หญิง เจอร์ด้าจึงต้องพบอย่างคาดไม่ถึงว่าเธอได้แรงบันดาลใจคนใหม่ และได้แรงกระตุ้นในเชิงสร้างสรรค์ใหม่ด้วย แต่ในไม่ช้า ทั้งคู่ก็ต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับจากสังคม พวกเขาทิ้งประเทศบ้านเกิดเพื่อเดินทางมายังปารีส ซึ่งเป็นโลกที่เปิดใจกว้างมากกว่า หน้าที่การงานของเจอร์ด้ายังคงเจริญก้าวหน้า ขณะที่ชีวิตแต่งงานของทั้งคู่ก็พัฒนาไปด้วย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเสียเลย แต่ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เจอร์ด้าให้การสนับสนุนลิลี่ในระหว่างที่เธอเดินทางในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ ต่างฝ่ายต่างค้นพบความกล้าหาญที่จะเป็นอย่างที่ตัวเองเป็นจริงๆ ผ่านแรงผลักดันของอีกฝ่าย
เมื่อพูดถึง The Danish Girl กับ ศัพท์ที่ควรรู้
Cisgender (หรือคำย่อว่า “cis”) – บุคคลที่มีสภาพทางเพศตามที่ปรากฏตอนแรกเกิด คือคนที่เพศภาวะ (ความรู้สึกภายในที่มีต่อตัวเองในฐานะชายหรือหญิง) ตรงกับเพศสภาพตามที่พวกเขาเกิดมา “Cis-“ คือคำในภาษาละตินที่ใช้นำหน้าคำอื่น ซึ่งหมายถึง “อยู่ในด้านเดียวกับ” และมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า “trans-” วิธีที่เข้าใจกันอย่างแพร่หลายเพื่อใช้อธิบายถึงคนที่ไม่ได้เป็นคนข้ามเพศ ก็คือการบอกว่า “ไม่ใช่บุคคลข้ามเพศ”
Transgender (หรือคำย่อว่า “trans”) – บุคคลข้ามเพศก็คือคนที่มีเพศภาวะ (ความรู้สึกภายในที่มีต่อตัวเองในฐานะชายหรือหญิง) แตกต่างไปจากเพศสภาพตามที่พวกเขาเกิดมา ข้ามเพศเป็นคำขยาย ไม่ใช่คำนาม เช่นประโยคที่ว่า “Scott is a transgender man” หมายถึง สก็อตต์เป็นบุคคลข้ามเพศ คือประโยคที่ถูกต้อง และ “Scott is a transgender” หมายถึงสก็อตต์เป็นข้ามเพศ เป็นประโยคที่ไม่ถูกต้อง สำหรับคำพหูพจน์ ใช้ว่า “transgender people” จึงจะถูกต้อง และคำว่า “transgenders” เป็นการใช้ที่ไม่ถูกต้อง
Transition – การข้ามเพศไม่ใช่ขั้นตอนกระบวนการก้าวเดียวจบ แต่เป็นกระบวนการอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลายาวนาน การข้ามเพศคือกระบวนการที่คนข้ามเพศต้องกระทำเพื่อทำให้ร่างกายและการแสดงออกถึงเพศของพวกเขา เป็นไปในแนวทางเดียวกับเพศภาวะภายในของพวกเขา ซึ่งหมายรวมถึงขั้นตอนทั้งโดยส่วนตัว ทางการแพทย์ และในทางกฎหมาย อาทิเช่น การบอกกล่าวกับครอบครัว เพื่อนๆ และเพื่อนร่วมงาน,การใช้ชื่อที่แตกต่างออกไป และคำเรียกสรรพนามใหม่, การแต่งตัวแตกต่างไปจากเดิม,การเปลี่ยนชื่อ และ/ หรือเปลี่ยนเพศในเอกสารตามกฎหมาย, การบำบัดเรื่องของฮอร์โมน และอาจมีการผ่าตัดแบบใดแบบหนึ่งหรือมากกว่า (แต่ไม่เสมอไป) ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการข้ามเพศนี้จะแตกต่างไปในแต่ละบุคคล
การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ Gender Confirmation Surgery – เป็นคำศัพท์ใหม่สำหรับการผ่าตัดเพื่อกำหนดเพศใหม่ เป็นก้าวหนึ่งในขั้นตอนการแปลงเพศทางการแพทย์ที่บุคคลข้ามเพศจะต้องพบเจอ คำศัพท์เฉพาะนี้เหมาะสมกว่าการใช้คำเก่าที่เรียกว่า “การแปลงเพศ”
LGBTQ – กลุ่มเลสเบี้ยน, เกย์, ไบเซ็กช่วล, คนข้ามเพศ, กะเทย ตามที่เห็นใน The Danish Girl ลิลี่ เอลเบ ถือกำเนิดมาเป็นเพศชาย ถึงแม้เพศภาวะของเธอจะเป็นหญิง การใช้คำศัพท์ร่วมสมัย อาจเรียกเธอว่าเป็นหญิงข้ามเพศ เพราะคำสรรพนามเพศชายไม่สามารถใช้อธิบายตัวลิลี่ได้ ข้อมูลอ้างอิงใดๆ เกี่ยวกับลิลี่ก่อนเธอจะข้ามเพศมีเงื่อนไขดังนี้ “ก่อนเธอจะข้ามเพศ ลิลี่ก็คือ ไอนาร์ เวเกเนอร์” ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะกล่าวถึงลิลี่ในฐานะผู้ชาย และไม่ถูกต้องที่จะกล่าวถึงเธอในฐานะผู้ชายข้ามเพศ เพราะลิลี่ถูกระบุว่าเป็นผู้หญิง
Carol – รักเธอสุดหัวใจ เข้าฉาย 11 กุมภาพันธ์ 2016 ดัดแปลงจากนวนิยายของ แพทริเซีย ไฮสมิธ ชื่อว่า The Price of Salt นำเสนอความผูกพันและความรักของผู้หญิงสองคน เทเรซ เบลิเว็ท และ แครอล เอิร์ด ในมหานครนิวยอร์ค นิยายเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1952 ความโดดเด่นของคือถ้อยคำที่ถ่ายทอดประเด็นเรื่องเพศอย่างบริสุทธิ์ใจและละเมียดละไม คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในยุค 50 ณ มหานครนิวยอร์ค หญิงสาววัยยี่สิบต้น ๆ เทเรซ เบลิเว็ท (รูนี่ย์ มาร่า) เป็นเพียงเสมียนประจำห้างสรรพสินค้าคนหนึ่ง ที่ชีวิตเธอเหมือนได้รับการเติมเต็มเมื่อพบรักกับ แครอล (เคท แบลนเช็ตต์) สาวใหญ่ผู้ติดกับดักในชีวิตสมรสที่ไร้รักโดยสิ้นเชิง ความผูกพันแสนลึกซึ้งของทั้งสองก็จุดติดขึ้น ขณะเดียวกัน แครอลต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลวในชีวิตสมรสกับ ฮาร์จ (ไคล์ แชนด์เลอร์) และความสัมพันธ์บางอย่างกับ แอ็บบี (ซาราห์ พอลสัน) เพื่อนสนิทของเธอ
Carol คือหนังติดตามชีวิตรักของผู้หญิงสองคนที่แตกต่างกันด้วยวัยและพื้นเพทางสังคม หญิงสาวนามว่าเทเรซ ที่ชีวิตของเธอถึงจุดพลิกผันเมื่อพบกับแครอล หญิงสาวทรงเสน่ห์ลูกติดที่ชีวิตสมรสกำลังถึงทางตัน ขณะที่ความรักของทั้งสองก่อตัวขึ้น พวกเธอต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งบางอย่างซึ่งแรงเสน่ห์หาของพวกเธอเหมือนเติมเชื้อไฟให้ลุกโชน
Carol ถือเป็นเรื่องราวความรักที่นำเสนอว่าความซื่อตรงเป็นสิ่งย้อมใจชั้นเยี่ยมได้อย่างไร ถ้าคุณซื่อตรงต่อตัวคุณและความเชื่อมั่นของคุณเอง เรื่องดีๆอาจจะไม่เกิดขึ้นแต่ชีวิตคุณจะดีขึ้นแน่นอน เรื่องราวของคนสองคนที่ไม่ได้ค้นหาซึ่งกันและกัน ทั้งสองมีชีวิตที่แตกต่างกันแต่มีความผูกพันบางอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และก็ไม่อาจยืนยาวได้เช่นกัน Carol เป็นหนังรักที่มีทั้งความสมหวังและความเจ็บปวด ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความกล้าหาญของตัวละครที่จะค้นหาตัวตนที่แท้จริงในยุคสมัยที่ยังปิดกั้นเรื่องความรักเพศเดียวกัน ซึ่งท็อดด์ เฮย์สก็ถ่ายทอดช่วงเวลานั้นได้ประณีตบรรจง นอกจากนี้หนังก็ถ่ายทอดประเด็นร่วมสมัยในแง่ที่ว่าหนทางสู่ความสุขที่แท้จริงในชีวิตคืออะไร
ความรักบางครั้งมันก็เกิดขึ้นอย่างไมได้ตั้งใจ ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดเพศ รู้ตัวอีกทีก็รู้สึกดีไปแล้ว บางครั้งก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามหัวใจ ไม่โกหกตัวเอง เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา ความรักที่ไม่ทำร้ายใครเป็นสิ่งที่สวยงาม แม้จะสมหวังหรือไม่ แต่มันก็คือสิ่งที่มีค่าสำหรับใจคุณ!!