สำหรับคนดูหนังทั่วไปอาจรู้จัก ภาม รังสี ในฐานะผู้กำกับหนังที่มีสไตล์เฉพาะตัวจากผลงานเรื่องก่อนหน้าอย่าง โลงจำนำ(2013) ซึ่ง คนดูอาจจดจำเฉพาะการแสดงของ กฤษดา สุโกศล แคลปป์(น้อย วงพรู) ได้มากกว่าเนื้อเรื่องที่หลายๆเสียงบอกว่าซับซ้อน สับสน ประหลาด จนทำให้กลุ่มคนดูแตกออกเป็นสองด้านอย่างชัดเจน คือ ถ้าไม่ชอบ ก็สาปส่ง
มาถึงผลงานที่ออกฉายลำดับต่อมา คือหนังรักแบบเรียลๆที่ชื่อว่า THE END(2014) ซึ่งเข้าฉายแบบเงียบๆในวงจำกัด แต่กลับได้รับคำชมเชยทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์อย่างคาดไม่ถึง และส่งให้นักแสดงหน้าใหม่ในเรื่องเป็นที่จดจำและพูดถึงอยู่พอควร น่าเสียดายที่หนังไม่ประสพความสำเร็จทางรายได้อย่างมาก แต่คำวิจารณ์และเสียงชื่นชมในทางบวกต่อ THE END ซึ่งมีมาตั้งแต่รอบเล็กๆที่ทดลองฉายฉบับราฟคัท ก็เป็นแรงผลักดันให้ภามคิดพล็อตหนังที่จะทำในลำดับถัดไปอยู่เงียบๆ
ในขณะที่ THE END อยู่ในขั้นตอน Post-Production ภาม รังสี ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์อินดี้เล็กๆเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า Inside Llewyn Davis ผลงานของสองพี่น้องโคเอน ซึ่งเขาชอบมาก และบอกว่าเป็นหนังในแบบที่คนไทยไม่มีวันสร้าง แต่เขาอยากจะสร้างในแบบของเขา โดยถือเอาหนังเรื่องที่ว่าเป็นแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องของชีวิตคนในมุมเล็กๆ คนที่ถึงช่วงขาลง คนที่มองไม่เห็นอนาคต แต่ต้องอยู่กับมันและฝ่าฟันไปให้ได้ เพื่อท้ายที่สุดแล้วมันจะเป็นการสร้างพลังในการสู้กับปัญหาในชีวิตของคนดูหลังจากดูหนังจบ
ในส่วนของงบประมาณและทุนสร้าง โจทย์ของเขาคือ ต้องถ่ายทำในระยะเวลาอันสั้น และที่สำคัญคือมันต้องไม่ใช่โทนหม่นเศร้าแบบ Inside Llewyn Davis เพราะภามเชื่อว่ายังไงคนดูหนังไทยก็ต้องการความบันเทิงและไม่ชอบดูหนังที่หม่นเศร้าแบบนั้น
ก่อนที่แนวคิดดังกล่าวจะมาลงตัวที่ ฟ้าแก้มโต ภามมองเห็นภาพหนัง Inside Llewyn Davis ในแบบของเขาผ่านเพลงลูกทุ่งที่เป็นแนวเพลงที่เขารักมาตั้งแต่เด็กๆ คาแรกเตอร์นักร้องที่เป็นบทนำของเขาต้องเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง หากแต่เมื่อเขาได้วางแนวทางและจินตนาการวิธีกำกับแล้วก็พบว่า เขาคงไม่ถนัดในการกำกับหนังที่ว่าด้วยเพลงลูกทุ่งล้วนๆ เขารักเพลงลูกทุ่งแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะนำเสนอเรื่องราวแนวนั้นได้ดีนัก