ภาพยนตร์พีเรียด-ดราม่าอิงประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 18 เล่าเรื่องราวในช่วงเวลาที่เกาะอังกฤษกำลังทำสงครามกับฝรั่งเศส โดยมี ควีนแอนน์ เป็นผู้ครองราชย์ หากแต่ไร้ความสามารถในการดูแลบ้านเมือง ไร้ความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์สงคราม รวมถึงประสบวิกฤติโรคภัยรุมเร้า ทำให้ เลดี้ซาร่าห์ เชอร์ชิลล์ สหายคนสนิทต้องก้าวเข้ามาทำหน้าที่แทนทั้งหมด ทว่าทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรืื่นไร้อุปสรรคเสมอไป ด้วยอารมณ์ที่แปรปรวนราวกับเป็นไบโพลาร์ของควีนแอนน์ แถมสถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อ อบิเกล สาวใช้คนใหม่ เข้ามาทำให้มิตรภาพและการปกครองบ้านเมืองสั่นคลอน หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นหนังผู้ดีตีกันเพื่อนแย่งชิงตำแหน่ง “คนโปรด” ของราชินี แต่เมื่อมีลายเซ็นของผู้กำกับยอร์กอส แลนธิมอส เท่านี้ก็คงการันตีได้แล้วว่าไม่ธรรมดาแน่นอน..
*คำเตือน* อาจมีการสปอยล์เนื้อหาภาพยนตร์หลังจากนี้
ยอร์กอสยังคงใส่ใจทุกองค์ประกอบของภาพยนตร์ตั้งแต่ การแคสติ้งเลือกนักแสดง คอสตูม สถานที่ถ่ายทำ เพลงประกอบ รวมถึงมุมกล้องทั้งหมด แม้บทภาพยนตร์จะถูกเขียนออกมาให้แรง แซ่บ เจ็บถึงทรวงขนาดไหน แต่ถ้าไม่ได้สามนักแสดงนำหญิง โอลิเวีย คอลแมน, ราเชล ไวซ์ และเอ็มม่า สโตน มาเป็นผู้ถ่ายทอด คนดูคงไม่อินขนาดหลุดอุทาน “โอ้โห!” “ห๊ะ!?” กันขนาดนี้ โดยเฉพาะ โอลิเวีย คอลแมน ที่แสดงความไม่ปกติของควีนแอนน์ได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งสีหน้า แววตา ท่าทางที่เปลี่ยนไปมาทุกวินาที และคนดูสามารถแยกออกได้ชัดเจนด้วยว่าเธอกำลังรู้สึกอะไรตอนนั้น ส่วนบทตัวละครประเภทแข็งนอกอ่อนในอย่าง เลดี้ซาร่าห์ ก็เหมาะกับราเชล ไวซ์ ผู้มีลุคสาวมั่น ดูเฉลียวฉลาด เต็มเปี่ยมด้วยความเป็นผู้นำจริง ๆ ไม่พูดถึงไม่ได้เลย สำหรับ เอ็มม่า สโตน ที่ปล่อยของแบบไม่มีกั๊กทำให้เห็นฝีมือการแสดงที่มีมิติมากกว่าที่เคย ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงติดโผผู้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำและนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมทุกคน
ภายใต้สงครามประสาทของผู้หญิง ยอร์กอสยังคงแทรกประเด็นสำคัญที่เขาถนัดอย่าง ครอบครัว มิตรภาพ และความรักไว้ได้อย่างแยบยล เรียกว่าใช้ตัวละครของ เลดี้ซาร่าห์และอบิเกล เป็นตัวแทนความรักแต่ละแบบโดยมี ควีนแอนน์ เป็นตัวแปร ชวนให้ผู้ชมคิดตามต่อไปว่าแล้วตัวเราล่ะต้องการความรักแบบไหน ระหว่าง “รักจริงใจที่เราเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่” กับ “รักเพ้อฝันที่หลอกให้เราลุ่มหลงด้วยสิ่งสวยงาม” เหมือนได้ดูชีวิตหลังแต่งงานควบคู่ไปกับชีวิตรักกุ๊กกิ๊กช่วงโปรโมชั่น ใครกำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้บอกเลยว่าดูแล้วมีจุกกันไปข้างแน่นอน ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวหนังเน้นย้ำ “ความเป็นจริง” มาตลอดเรื่อง ผ่านการนำเสนอใบหน้าไร้เมคอัพของเหล่าตัวละครหญิง และท่าทีต่อต้านเครื่องสำอางหนาเตอะของขุนนางชาย ลองคิดตามดูสิว่าตัวคุณจะเลือกแบบไหน ?
แอบชื่นชมที่สงครามตบตีของผู้หญิงเหมือนในละครหลังข่าวไม่ทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้น้ำเน่าหรือน่าเบื่อแต่อย่างใด เพราะการหยิบประเด็นการเมือง ประเด็นการเอาตัวรอดของผู้คนในยุคสงคราม และบทบาทผู้หญิงในสมัยก่อนมาเล่น เห็นได้ชัดในตัวของ อบิเกล ผู้ถ่ายทอดความเป็นจริงของสังคมผ่านบทบาทแสนตลกร้าย ชวนให้เจ็บใจลึก ๆ ว่า เป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงเป็นที่รองรับอารมณ์ทางเพศ แต่ขนบเก่านั้นโดนฟาดซ้ำ ๆ ด้วยการกระทำที่บอกว่าเธอไม่ได้ไร้สมอง แถมยังฉลาดเข้าขั้นที่หยิบเอาความอ่อนแอ มารยา และน้ำตามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออยู่เหนือทุกคนได้ด้วย นอกจากนี้ประเด็นพลังหญิงยังถูกเน้นย้ำด้วยตัวละครของ ซาร่าห์ ผู้มาพร้อมกับคาแรคเตอร์มาดแมนแฮนด์ซั่ม ทั้งขี่ม้า ยิงปืน เชี่ยวชาญการเมือง เก่งเรื่องกลยุทธ์ทหาร แถมเป็นสตรีสูงส่งที่มีอำนาจควบคุมเหล่าทหารชายอีกต่างหาก
สิ่งที่ชอบที่สุดในเรื่องนี้คือการใช้ “กระต่าย” มาเป็นสัญลักษณ์แทนตัว “อบิเกล” ที่มีหน้าตาน่ารัก ดูไร้เดียงสา และปราดเปรื่องว่องไว แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่ “สัตว์เลี้ยง” ที่เจ้าของจะหันมาสนใจเมื่อต้องการเล่นด้วยเท่านั้น น่าเวทนาที่อบิเกลใช้กระต่ายมาเป็นเครื่องมือเหยียบย่ำให้ตัวเองสูงขึ้น โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าจริง ๆ แล้วเธอเองก็มีสถานะเดียวกับพวกมัน และไม่ใช่ “คนโปรด” อย่างแท้จริงแม้ได้อยู่ใกล้ชิดกับเจ้าของขนาดไหน ในอีกแง่มุมหนึ่ง กระต่าย อาจเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความโศกเศร้า ความเจ็บปวด ความไร้เดียงสา หรือความสนุกสนานที่วนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัวมนุษย์ ซึ่งเราอาจไปเหยียบและทำลายชีวิตของมันโดยที่เจ้าของรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่ต้องตระหนักด้วยว่าวันหนึ่งกระต่ายของเราเองก็อาจถูกคนอื่นมาฆ่าทิ้งได้เช่นเดียวกัน..
สรุปแล้วเป็นหนังที่เต็มไปด้วยประเด็นให้คิดวิเคราะห์มากมายสไตล์ผู้กำกับยอร์กอส แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ประวัติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องอินราชวงศ์อังกฤษ ก็สามารถดูได้สนุกเช่นกัน เพราะแค่เข้าไปเสพย์การประชันบทบาทของสามนักแสดงนำและโปรดักชั่นสวย ๆ ก็คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม เพียงแค่ “The Favourite” ไม่ใช่แค่หนังผู้ดีตีกันธรรมดา ๆ เท่านั้นเอง