กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เดินหน้าสานต่อความสำเร็จต่อเนื่องจัด "เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561 (Bangkok Asean Film Festival 2018)" ครั้งที่ 4 เนื่องในโอกาสพิเศษครบรอบ 51 ปี การก่อตั้งประชาคมอาเซียน พร้อมสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คัดสรรภาพยนตร์คุณภาพเยี่ยมกว่า 13 เรื่องจาก 7 ประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมอาเซียนมาให้ประชาชนเลือกชม โดยจัดฉายฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ ระหว่างวันที่ 5-8 กรกฏาคม 2561 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
โดยภาพยนตร์เปิดเทศกาลเริ่มที่ "Eullenia" ภาพยนตร์ไทยผลงานกำกับโดย พอล สปาเรีย นำแสดงโดยนักแสดงผู้มากความสามารถ ปู-วิทยา ปานศรีงาม และรับเชิญโดยนักแสดงหญิงมากฝีมือ โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล นำเสนอเรื่องราวของ มาร์คัส แฮมมอนด์ เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันการเงิน Eullenia ซึ่งตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันการเงิน Eullenia มีความเชี่ยวชาญในด้านไมโครไฟแนนซ์ และการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อย การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Eullenia ทำให้แฮมมอนด์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐี แต่แฮมมอนด์มีความลับ เขามีความปรารถนาอันดำมืดที่อาจทำลายอาณาจักรของเขาให้พังพินาศ แฮมมอนด์ไม่ได้สนใจเครื่องบินเจ๊ท เรือยอร์ช หรือนางแบบซูเปอร์โมเดล แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่เขาต้องการที่จะซื้อคืออะไร สามารถติดตามได้ใน Eullenia โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉายในวันเปิดเทศกาลที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เท่านั้น
และเพื่อสนับสนุนภาพยนตร์อาเซียนให้โดดเด่นบนเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ทางเทศกาลได้ให้ความสำคัญกับการประกวดภาพยนตร์อาเซียน โดยคัดเลือกหนังอาเซียนที่โดดเด่นมา 10 เรื่อง เพื่อร่วมประกวดและชิงรางวัล 2 รางวัล คือ 1. รางวัล Best ASEAN Film โดยผู้ชนะรางวัลนี้จะได้โล่รางวัล และเงินสด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (329,744 บาท) 2. Jury Prize โดยผู้ชนะรางวัลนี้จะได้โล่รางวัล และเงินสด 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (164,872 บาท)
โดยคณะกรรมการตัดสิน คือ ผู้ทรงคุณวุฒิทางภาพยนตร์จากนานาชาติ 3 ท่าน ได้แก่ Yoshi Yatabe ผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกภาพยนตร์ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, Kiki Fung โปรแกรมเมอร์ภาพยนตร์จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองฮ่องกง (HKIFF) และอาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์, อาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ และกรรมการบริหารของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
เริ่มต้นที่ "Nervous Translation" ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศฟิลิปปินส์ที่กวาดรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมามากมาย เล่าเรื่องราวในช่วงปลายปี 1988 ในฟิลิปปินส์ยุคหลังเผด็จการมาร์กอส ยาเอล เด็กหญิงวัยแปดขวบซึ่งขี้อายมาก ใช้เวลาอยู่ในโลกของตัวเธอเอง เธอต้องอยู่ตัวคนเดียวขณะที่แม่ของเธอต้องไปทำงานในโรงงานทำรองเท้า และต้องทำอาหารกินเอง โดยที่ลืมไปว่ามีอาหารเหลือ ๆ อยู่ในตู้เย็น ในตอนเย็น เธอถอนผมหงอกให้แม่แลกกับเงินเส้นละ 25 เซนตาวอส ขณะที่แม่กำลังดูละครน้ำเน่าทางทีวี ยาเอลรู้จักพ่อของเธอผ่านเสียงของเขาที่อัดใส่เทปส่งมาจากซาอุดิอาราเบียเป็นครั้งคราว เครื่องเล่นเทปของเธอชอบกินเนื้อเทป แต่ยาเอลก็ยังแอบฟังเสียงของพ่อเธออยู่เสมอ คืนหนึ่ง โดยไม่ตั้งใจ เธอได้อัดเสียงของเธอทับเสียงในเทปที่เป็นข้อความสำหรับแม่ของเธอ
"Guang" ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศมาเลเซีย เรื่องราวของสองพี่น้อง พี่คนโต เหวินกวงเป็นออทิสติคและสมาธิสั้น ซึ่งทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคม แม้ว่าน้องชายของเขาจะพยายามหางานให้เขาทำ แต่เขาก็มีปัญหาในการสัมภาษณ์งานและตกสัมภาษณ์อยู่เสมอ น้องชายของเขาทั้งโกรธและสิ้นหวัง จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้ยินเสียงดนตรีดังมาจากห้องของเหวินกวง เขาเปิดประตูไปและได้เห็นถึงพรสวรรค์ทางดนตรีของน้องชายของเขา
"In the Life of Music" ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศกัมพูชา นำเสนอเรื่องราวอันทรงพลังของคนหลากรุ่นที่สำรวจถึงความรัก สงคราม และความสัมพันธ์ในครอบครัวผ่านบทเพลงจำปาพระตะบอง อันเป็นบทเพลงดังของสิน สีสมุทร ราชาแห่งเพลงกัมพูชา โดยภาพยนตร์ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในสามทศวรรษ ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนที่โลกของพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยการปรากฏตัวของระบอบเขมรแดง
"Night Bus" ภาพยนตร์ระทึกขวัญจากประเทศอินโดนีเซีย เรื่องราวของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่นั่งรถบัสไปซัมปาร์ โดยที่นั่นทหารของรัฐบาลกำลังต่อสู้อยู่กับกองกำลังกบฏที่ต้องการประกาศเอกราช ซึ่งคนบนรถต่างมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป แต่พวกเขาไม่ได้คาดคิดว่าจะมีคนที่แอบขึ้นรถมาด้วย โดยมีจุดประสงค์เพื่อประกาศข้อความเพื่อยุติความขัดแย้งในท้องที่ การปรากฏตัวของเขาทำให้ผู้โดยสารทุกคนตกอยู่ในอันตราย เพราะเขาเป็นที่ต้องการตัว ทั้งจับเป็นหรือจับตายจากทั้งสองฝ่าย
"Passage of Life" ภาพยนตร์ดราม่าร่วมทุนระหว่างประเทศพม่าและญี่ปุ่น เรื่องราวของครอบครัวชาวพม่าครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นกับลูกชายสองคนที่พูดภาษาพม่าไม่ได้และใช้ชีวิตแบบเด็กญี่ปุ่น แม่ของพวกเขาอยากกลับไปพม่า แต่พ่อไม่สามารถทิ้งงานที่ญี่ปุ่นไปได้ แต่แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็ได้รับจดหมายที่จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาตลอดไป
"Shuttle Life" ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศมาเลเซียที่ชนะ 3 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และภาพถ่ายยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ปี 2017 เรื่องราวของ อาเฉียงชายหนุ่มผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่กับแม่ที่มีอาการทางจิตและฮุย น้องสาวอายุ 5 ขวบ เมื่อฮุยตายในอุบัติเหตุ อาเฉียงพยายามพาร่างของเธอกลับบ้าน แต่เขากลับพบอุปสรรคเมื่อเขาไม่สามารถยืนยันได้ว่าฮุยเป็นน้องสาวของเขาเพราะตอนที่ฮุยเกิดมานั้นไม่ได้มีการแจ้งเกิด เมื่อแม่ของเขาไม่สามารถช่วยอะไรได้ อาเฉียงจึงต้องพยายามตามลำพัง
"The Ashes and Ghosts of Tayug 1931" ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศฟิลิปปินส์ เล่าเรื่องราวของคนทำหนังที่เดินทางกลับไปเยี่ยมเมืองทายุก ในพันกาซินาน เพื่อเตรียมทำหนังเรื่องใหม่ของเธอที่เกี่ยวกับ เปโดร คาโลซ่า วีรบุรุษของพื้นที่นั้น และการจลาจลทายุก ในปี 1931 ขณะที่เธอได้ไปยังสถานที่ที่เกิดเหตุจลาจล เธอได้จินตนาการถึงฉากในหนังเรื่องใหม่ของเธอ ยิ่งเธอค้นคว้าลึกลงไปมากเท่าใด เธอก็ได้พบกับความทรงจำของชาวเมืองถึงเปโดร คาโลซ่า และการจลาจลทายุกในปี 1931
"The Seen and Unseen" ภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่าง 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และกาตาร์ เรื่องราวของ ตันตริ เด็กหญิงวัย 10 ขวบรู้ตัวว่าเธอจะได้ใช้เวลาอีกไม่นานนักกับตันตระ น้องชายฝาแฝดของเธอ สมองของตันตระอ่อนแอลงและเขาเริ่มไม่รู้สึกตัว ตันตริมักฝันเห็นตันตระและตื่นขึ้นมาในเวลากลางดึก ยามกลางคืนกลายเป็นช่วงเวลาที่เด็กสองคนเล่นกัน ภายใต้แสงจันทร์เต็มดวง ตันตริร่ายระบำสะท้อนถึงบ้านและความรู้สึกของเธอเมื่อแสงจันทร์เลือนหายและแสงตะวันเข้ามาแทนที่ ก็เช่นเดียวกับตันตระและตันตริ ตันตริได้สัมผัสถึงการเดินทางอันน่าอัศจรรย์และความผูกพันทางใจผ่านทางการแสดงออกทางร่างกาย ระหว่างความจริงกับจินตนาการ และความหวังกับความสิ้นหวัง
"Their Remaining Journey" ภาพยนตร์ดราม่าร่วมทุนระหว่าง 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เรื่องราวของวิญญาณของนางเอกละครเวทีที่ตายไปแล้วต้องติดอยู่กับครอบครัวของคนแปลกหน้าระหว่างกำลังรอจะไปเกิดใหม่ เธอได้เฝ้าดูชีวิตของคนอื่นรวมถึงความสูญเสียของครอบครัวของเธอเอง
และปิดท้ายที่ภาพยนตร์จากประเทศไทย "เณรกระโดดกำแพง" ผลงานของบุญส่ง นาคภู่ เรื่องราวของผู้กำกับภาพยนตร์ผู้ดื้อรั้น ได้พบเจอสิ่งต่าง ๆ มากมาย ในระหว่างการเดินทางสำรวจโลเกชั่นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดทั้งความจริงที่เห็นอยู่ตรงหน้า ความจริงที่ผ่านมา ความฝัน สิ่งที่อยากให้เป็น รวมทั้ง ด้านมืดอันเร้นลับที่เขาพยายามปกปิด และหนีมาตลอด บัดนี้ ทุกอย่างได้ย้อนกลับมารุมเล่นงานเขาจนสะบักสะบอมแทบจะเอาตัวไม่รอด บุญส่งแสดงเป็นบุญส่ง ลูกชายของบุญส่งแสดงเป็นบุญส่งตอนเด็ก แม่ของบุญส่งก็แสดงเป็นแม่ของบุญส่ง อีกครั้งที่บุญส่ง นาคภู่ ได้พยายาท้าทายขนบของการเล่าเรื่อง แบบข้ามไปมาระหว่างสารคดี และเรื่องแต่ง
นอกจากนี้ทางเทศกาลเห็นถึงความสำคัญของผลงานของบรมครูระดับตำนาน ในสาย "อาเซียน คลาสสิก (ASEAN Classic)" จึงมีหนังชั้นเยี่ยมถึง 3 เรื่องให้ชมกัน อาทิ "Kakabakaba Ka Ba?" จากประเทศฟิลิปปินส์, "MeePok Man" จากประเทศสิงคโปร์ และ "สวรรค์มืด" จากประเทศไทย
สำหรับ "เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561 (Bangkok Asean Film Festival 2018)"
จะจัดฉายพร้อมบทบรรยายภาษาไทย-อังกฤษ ฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ
ระหว่างวันที่ 5-8 กรกฏาคม 2561 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนจองบัตรชมภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ที่
www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
และรับบัตรชมภาพยนตร์ได้ที่จุดประชาสัมพันธ์เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561
บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ก่อนรอบฉาย 30 นาที (1ท่านต่อ1ที่นั่ง)
ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรอบฉาย และ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-643-9100
และ www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival