From Bangkok to Mandalay ‘ถึงคน..ไม่คิดถึง’ ของผู้กำกับ ชาติชาย เกษนัส ภาพยนตร์ร่วมทุนสร้าง ไทย-เมียนมา ในที่สุดเราจะไม่ได้เห็นหนังเรื่องนี้ไปมีบทบาทในเวทีรางวัลสุพรรณหงส์ในต้นปีหน้า เนื่องจากไม่ผ่าน “เกณฑ์การพิจารณานิยาม ‘ภาพยนตร์ไทย'” โดย “เกณฑ์การพิจารณานิยาม ‘ภาพยนตร์ไทย'” ถูกแบ่งออกเป็น 10 หัวข้อ ซึ่งพิจารณารอบด้านทั้งที่มาของทุนสร้าง เนื้อหาของหนัง ไปจนถึงภาษาหลักที่ใช้ในภาพยนตร์ เป็นต้น โดยภาพยนตร์ที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาต้องมีคะแนนมากกว่า 13 คะแนนขึ้นไป (รายละเอียดในแต่ละหัวข้อตามภาพประกอบด้านล่าง) ยกตัวอย่างกรณีของ ‘พี่ชาย My Hero’ ตัวแทนชิงรางวัลออสการ์ปีที่ผ่านมาของไทย ที่แม้จะเป็นหนังทุนสร้างต่างประเทศเกือบทั้งหมด แต่ด้วยเนื้อหา, ภาษา และนักแสดงหลัก ไปจนถึงทีมงานเบื้องหลังทั้งหมดเป็นคนไทย เป็นต้น
ปัญหาที่เห็นได้ชัดจากเกณฑ์ดังกล่าวคือ การให้น้ำหนักไปที่เนื้อหาและภาษามากอย่างชัดเจน ซึ่งในกรณี ‘ถึงคน..ไม่คิดถึง’ ไม่ผ่านในสองหัวข้อสำคัญคือ ภาษา (4 คะแนน) และ นักแสดงหลัก (3 คะแนน) ซึ่งเมื่อรวมคะแนนทั้งหมดแล้วจึงทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์ 13 คะแนนไปอย่างฉิวเฉียด
กรณีศึกษา : เกณฑ์ในการส่งหนังเข้าประกวดรางวัลออสการ์ สาขา “ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม” แต่ละเวทีการประกวดย่อมมีกฏกติกาที่แตกต่าง ซึ่งบนเวทีการประกวดภาพยนตร์ที่มีกฏกำหนดชัดเจนให้แต่ละชาติมีสิทธิ์ในการส่งหนังเข้าประกวดได้เพียง 14 เรื่องอย่าง ออสการ์ จึงมักจะมีปัญหาในกรณีนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เนื่องด้วยคุณสมบัติของหนังที่เข้าประกวดถูกกำหนดไว้แบบกว้างๆ เพียงว่า “เป็นหนังที่ลงทุนนอกอเมริกา และไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก” โดยไม่ได้ระบุว่า “หนังจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนชาติ” นั้นด้วยหรือไม่
ด้วยเกณฑ์การวัดในลักษณะนี้ ทำให้ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักถูกตัดโอกาศไปด้วย จึงทำให้ประเทศที่เข้าข่ายเหล่านี้หาวิธีเลี่ยงเกณฑ์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นประเทศออสเตรเลีย ที่เคยส่ง The Rocket (2013) หนังว่าด้วยครอบครัวชาวลาวที่ถ่ายทำในไทยเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ จนมาถึงตัวอย่างล่าสุด ที่สหราชอาณาจักรส่ง Under The Shadow (2016) หนังสยองขวัญของผู้กำกับชาวอิหร่านและเล่าเรื่องของชาวอิหร่านทั้งหมด (แต่มีผู้สร้างหลักเป็นชาวอังกฤษ) เป็นตัวแทนชิงรางวัลออสการ์ของประเทศแทน
จากกรณีเกณฑ์ของออสการ์ แม้จะมีข้อสงสัยในการจำกัดด้าน “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งเป็นภาษาสากลและถูกใช้เป็นภาษาหลักในหลายประเทศ แต่ในทางกลับกันก็ทำให้สิ่งที่กำหนดสัญชาติของหนังนั้นพล่าเลือนลงและมีความลื่นไหลขึ้น สอดคล้องกับวิถีของอุตสาหกรรมหนังโลกในปัจจุบันที่เกิดการสร้างในลักษณะ co-production จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ เมื่อย้อนมาที่กรณีของ From Bangkok to Mandalay ‘ถึงคน..ไม่คิดถึง’ กฏเกณฑ์ที่ใช้กำหนดความเป็น “หนังไทย” ไว้อย่างตายตัว จะยังคงเหมาะสมในการใช้กำหนดภาพยนตร์ที่มีความลื่นไหลสูงในปัจจุบันหรือไม่? ก็ควรเป็นสิ่งที่คนในวงการภาพยนตร์ หรือแม้แต่ผู้ชมทั่วไปจะมาคิดใคร่ควรถึงมันต่อไปเช่นกัน
และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา 'Movies Matter' ร่วมกับ 'Magenta Film Studio' จัดงาน Movie+Talk ดูหนัง From Bangkok to Mandalay (ถึงคน...ไม่คิดถึง) แล้วร่วมสนทนาในหัวข้อ “รู้จักวัฒนธรรมป๊อปเมียนมา” และรายละเอียดเบื้องหลังการสร้างหนังเรื่องนี้ที่คุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน กับ ชาติชาย เกษนัส (ผู้กำกับ), ลลิตา หาญวงษ์ และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
กูลาแล้ว วงการหนังไทย
ก่อนวันจัดฉาย หนังเรื่องนี้โด่งดังด้วยข้อสังเกตว่า “นี่เป็นหนังไทยหรือเปล่า?” ทั้งหนังยังถูกถอดจากโรงอย่างรวดเร็วด้วยเหตุผลทางการตลาด
“เราไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องโด่งดังเป็นพลุแตก และกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากชวนดู ก็คือแรงงานพม่าในไทย แต่ข้อเท็จจริงพบว่า คนพม่าไม่กล้าออกมา ทั้งๆ ที่เขาอาจมีบัตรอย่างถูกกฎหมาย แรงงานทำงานหกวันต่อสัปดาห์ เวลาว่างที่เหลือเขาเพียงอยากพักผ่อนและตั้งวงคุย
และอีกข้อสังเกตที่คิดว่าเป็นจริง คือเขาทำงานได้เงินวันละ 300 บาท แต่หนังในวันเสาร์-อาทิตย์ที่นั่งละเกือบ 200 บาท มันไม่สมจริงใช่ไหมที่จะเอามาซื้อตั๋วดูหนัง
ต่างกับที่พม่า หนังเรื่องนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะนักแสดงนำสามคนในเรื่องเป็นนักแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในประเทศพม่า แต่ในความเห็นของชาติชาย เขาว่าส่วนหนังเป็นเพราะฐานคนดูหลากหลาย เด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่
ไม่เหมือนคนไทย ที่ถูกสปอยล์ (spoiled) ให้มีความชอบเพียงหนังบางประเภท ฐานคนดูจึงเริ่มหลุดหายตายจากไป
นาทีนี้ศิโรตม์กล่าวว่า “หนังอินดี้ก็ไม่มีคนดู หนังดีก็ถูกเซ็นเซอร์ แถมหนังป๊อปประเด็นยาก ที่ซ่อนแล้วซ่อนอีก ก็ยังไม่มีคนดู ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับวงการหนังบ้านเรา”
“คือกูลาแล้ว วงการหนังไทย” – ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘From Bangkok to Mandalay’ ถึงคน…ไม่คิดถึง
ที่มา Waymagazine.org , Bioscope , Documentary Club