จากบทบันทึกสำคัญในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร ทั้งของไทย พม่า และชาวตะวันตก รวมไปถึงงานจิตรกรรมตามผนังโบสถ์และวัดวาอารามฯลฯ ว่ากันว่ามีการบันทึกถึงวีรกรรมอันหาญกล้าของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการทำศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา” ถึง 10 แบบที่แตกต่างกันไป ตามหลักฐานของแต่ละชนชาติทั้งของชาวดัทช์, โปรตุเกส, พม่า หรือแม้แต่ของไทยเอง ไม่มีมหาสงครามครั้งไหนในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยจะถูกจารึก จดจำ และอยู่ในหัวใจคนไทยมากที่สุด เท่ากับครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงทำยุทธหัตถีในปีพุทธศักราช 2135 เพราะนี่คือ อภิมหาสงครามแห่งเกียรติยศ นำมาซึ่งอิสริยยศ อิสริยศักดิ์อันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้รับการเชิดชูในฐานะที่เป็นราชาธิราช ราชาที่เหนือราชาทั้งหลายอย่างสมพระเกียรติ และนำมาซึ่งเอกราชแก่ปวงชน และผืนแผ่นดินไทยให้ลูกหลานสืบสานตราบมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งภาพเหตุการณ์ดังกล่าวที่มีการเล่าขานสืบต่อกันมาตลอดระยะเวลากว่า 422 ปี และกำลังจะปรากฏสู่สายตาผู้ชมบนแผ่นฟิล์มอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี” ผ่านมุมมอง และอัจฉริยภาพในการกำกับภาพยนตร์โดย ท่านมุ้ย ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล และสื่อสารผ่านทาง พันโทวันชนะ สวัสดี ผู้รับบทเป็น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งผู้พันเบิร์ด ได้เล่าถึงความสำคัญของยุทธหัตถีว่า
“เราจะได้เห็นการยุทธ์ที่ใช้ช้างชนกัน รวมทั้งได้เห็นขีดความสามารถของการบังคับช้างของควาญช้าง เราจะได้เห็นถึงความเป็นสุภาพบุรุษในการรบของขุนศึกคนอื่นๆ ที่ปล่อยให้พระมหากษัตริย์สองพระองค์รบกัน คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ถ้าเราต้องสร้างภาพยนตร์เรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชฉากนี้จะขาดไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าทุกคนรอคอยที่จะชมฉากศึกยุทธหัตถีตั้งแต่เริ่มฉายภาคหนึ่งแล้ว ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนได้ไปชมฉากยุทธหัตถี ที่เราได้พยายามสรรค์สร้างใช้ทุกกระบวนการ ทุกความสามารถในการทำภาพยนตร์ ความสามารถของนักแสดงทุกคนที่เราต่างฝึกซ้อมกัน มาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว แล้วก็ซ้อมกันมาเรื่อยๆ จนเรามีความเชี่ยวชาญ บังคับช้างได้จริง หลายคนพูดถึงยุทธหัตถีอยากเห็นกันมานาน ก่อนที่จะมีการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อีก ผมเชื่อว่า สิ่งที่ทุกคนไม่มีวันลืมคือ ประวัติศาสตร์ความเป็นจริงของชาติเรา ความยิ่งใหญ่ และความสำคัญของศึกยุทธหัตถี
เมื่อย้อนกลับไปดูหลักฐานข้อมูลต่างๆ จะพบว่าการศึกยุทธหัตถีไม่ได้เกิดขึ้นทั่วโลกนะครับ มันเกิดขึ้นเฉพาะภูมิภาคฝั่งเรา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มีอยู่ประมาณนี้ ถือว่าเป็นการศึกการยุทธ์ที่ต้องใช้ความห้าวหาญเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งของพระมหากษัตริย์ พระปรีชาสามารถในการบังคับช้างการใช้อาวุธบนหลังช้าง และการต่อสู้กันตัวต่อตัวทั้งของฝั่งไทย และพม่าที่เป็นการต่อสู้คนสองคนเท่านั้น และพอการศึกจบผู้นำทัพพ่ายแพ้ ก็จะเห็นว่าไม่มีการรุมต่อทุกอย่างจบ ทุกคนยอมรับสภาพ เป็นการยุทธ์ของสุภาพบุรุษ ที่ถ้าใครได้ชัยชนะในครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำชัยชนะต่อไป เช่น ถ้าศึกครั้งนี้พระมหาอุปราชามีชัยชนะเหนือพระนเรศวรมันจะเป็นการตอกย้ำในความเป็นเมืองขึ้นของอโยธยาต่อไปแน่นอน แต่ถ้าพระนเรศวรรบชนะพระอุปราชาในศึกครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำความเป็นเอกราชที่มันจะยืนยาวต่อไป ซึ่งอาจจะไม่เคยเสียเลยต่อไปเพราะฉะนั้นความสำคัญของยุทธหัตถีอยู่ที่ตรงนี้ครับ”
ร่วมพิสูจน์ความยิ่งใหญ่แห่งมหาศึกอันทรงคุณค่ากับการเสียสละของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” องค์พระมหากษัตริย์ไทยที่ทำให้คนไทยมีผืนแผ่นดินไทยตราบจนทุกวันนี้ 29 พฤษภาคม นี้ทุกโรงภาพยนตร์