ภาพความน่าสะพรึงกลัวของไดโนเสาร์จาก "จูราสสิค ปาร์ค" ที่เสกขึ้นโดยพ่อมดแห่งฮอลลีวูด จะติดตาจนกลายเป็นต้นตำหรับแห่งหนังไดโนเสาร์ไม่ได้ หากขาด "ไมเคิล ไครช์ตัน" ผู้เขียนผู้สร้างตำนานทั้ง 2 ภาค ทว่าบัดนี้เขาจากโลกไปแล้ว "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จะนำพาผู้อ่านไปย้อนรำลึกถึงชีวิตและผลงานของเขากันอีกครั้งหนึ่ง
การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของไมเคิล ไครช์ตัน นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน วัย 66 ปี ด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2008 สร้างความตกตะลึง ปนความโศกเศร้าเสียใจ ให้แก่ครอบครัว เพื่อนพ้อง รวมทั้งแฟนหนังสือและผลงานภาพยนตร์ของเขาเป็นอย่างยิ่ง เฉพาะที่แฟนชาวไทยรู้จักกันดีก็คือเรื่อง จูราสสิค ปาร์ค, เดอะ ลอส เวิลด์ และ อีอาร์ ห้องฉุกเฉิน (ER) ซีรีส์เรื่องดัง ก่อนจะรำลึกถึงผลงานและความสำเร็จของเขา "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ขอพาย้อนเส้นทางของนักเขียนที่มีผลงานส่วนใหญ่เชิงวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี แนวสะพรึงกลัว (thriller) จากผลกระทบของความก้าวหน้า
ไครช์ตัน เกิดเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2485 ในเมืองชิคาโก้, อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ตามที่ระบุไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของไครช์ตัน เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองแคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตต์ ในปี 2507
จากนั้นเขาจบการศึกษาปริญญาเอกทางด้านการแพทย์ จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ในปี 2512 ซึ่งเขาสนใจศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ และมีผลงานการศึกษาวิเคราะห์กะโหลกของชาวอียิปต์โบราณ ตีพิมพ์ลงในวารสารของพิพิธภัณฑ์พีบอดี (Paper of the Peabody Museum) ในปี 2509
ไครช์ตันได้เข้าทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกอยู่ที่ สถาบันซอล์ก (Salk Institute for Biological Studies) เมืองลา โฮยา (La Jolla) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในระหว่างปี 2512-2513 นอกจากนี้ยังเคยได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษเรื่องมานุษยวิทยาให้กับมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge University) สหราชอาณาจักร และเป็นนักเขียนรับเชิญให้กับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตต์ส (Massachusetts Institute of Technology)
ไครช์ตันสนใจงานเขียนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา โดยผลงานนวนิยายเรื่องแรก ดิ แอนโดรเมดา สเตรน (The Andromeda Strain) ของเขาได้รับการตีพิมพ์ในปีเดียวกับที่เขาเรียนจบ จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด และในภายหลังเขาก็ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนเต็มตัว นับได้ว่าไครช์ตันเป็นนักเขียนยอดนิยมที่สุดของโลกคนหนึ่ง หนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากถึง 36 ภาษา และพิมพ์มากกว่า 150 ล้านเล่ม รวมถึงถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 13 เรื่องด้วยกัน
ดิ แอนโดรเมดา สเตรน เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ไครซ์เขียนขึ้น และเป็นเรื่องแรกของเขาที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2514 นำมาฉายในชื่อภาษาไทยว่า "แอนโดรเมด้า สงครามสยบไวรัสล้างโลก" ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ ที่พยายามหาทางต่อกรกับจุลชีพร้ายกาจที่มาจากนอกโลก และหลังจากนั้นเขาก็มีผลงานออกมาอีกมากมายทั้งหนังสือและภาพยนตร์
ที่น่าสนใจคือเรื่อง เวสต์เวิลด์ (Westworld) ซึ่งไครช์ตันเป็นผู้เขียนบท และสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยตัวเองในปี 2516 โดยนับเป็นเรื่องแรกที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้สร้างเทคนิคพิเศษของฮอลลีวูด จึงเรียกได้ว่าไครช์ตัน เป็นผู้บุกเบิกการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในวงการภาพยนตร์เลยทีเดียว และส่งผลให้เขาได้รับรางวัลออสการ์ สาขาเทคนิคยอดเยี่ยมไปครองในปี 2538 (Technical Achievement Academy Award) และยังได้รับอีกหลายรางวัลตามมา จากผลงานอีกหลายเรื่องของเขาเอง ทว่าผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือ จูราสสิค ปาร์ค และ เดอะ ลอสต์ เวิลด์ ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2533 และ 2538 ตามลำดับ โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการทำให้สัตว์โลกล้านปีกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง บนเกาะห่างไกลไร้ผู้คน จนทำให้เกิดเรื่องราวน่าสะพรึงกลัวขึ้น
ทั้ง 2 เรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ในปี 2536 และ 2540 จนโด่งดัง กลายเป็นตำนานอีกเรื่องหนึ่งของฮอลลีวูด โดยไครช์ตันมีส่วนร่วมในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง จูราสสิค ปาร์ค ด้วย พรสวรรค์ของเขาปรากฏออกมาอย่างโดดเด่นในเรื่องจูราสสิค ปาร์ค เขาทำได้ยอดเยี่ยมที่สุด ในการนำเอาวิทยาศาสตร์มาผสมผสาน กับแนวคิดของการสร้างภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้ชมเชื่อได้สนิทว่าไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กลับมามีชีวิตบนโลกยุคปัจจุบันได้อีกครั้ง" ข้อความที่สปิลเบิร์กกล่าวถึงไครช์ตันผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ หลังจากที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของไครช์ตัน นอกจากนี้ ยังมีการนำชื่อของไครช์ตันไปตั้งชื่อให้กับไดโนเสาร์สปีชีส์ใหม่ที่มีการค้นพบฟอสซิลในปี 2545 โดยมีชื่อว่า ไครช์ตันซอรัส โบห์ลินิ (Crichtonsaurus bohlini)
ส่วนชีวิตครอบครัวนั้น ไครช์ตันผ่านการสมรสทั้งสิ้น 5 ครั้ง และมีบุตรสาวเพียงคนเดียวคือ เทย์เลอร์ แอนน์ (Taylor Anne) ซึ่งเกิดกับแอนน์-แมรี มาร์ติน (Anne-Marie Martin) ภรรยาคนที่ 4 ของเขา ส่วนภรรยาคนล่าสุดคือ เชอร์รี อเล็กซานเดอร์ (Sherri Alexander) ที่เพิ่งแต่งงานกันไปเมื่อ 3 ปีก่อน
คนทั่วโลกอาจรู้จักไครช์ตันในฐานะนักเล่าเรื่องที่มีพรสวรรค์ และมากความสามารถ ทว่าภรรยา ลูกสาว ญาติ และเพื่อนพ้องของไครช์ตัน ต่างยกย่องเขาว่า เป็นบุคคลที่น่ารักน่าชื่นชม และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้าง ให้เกิดความพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้พบเห็นเรื่องราวมหัศจรรย์บนโลกใบนี้