ไกวัล กุลวัฒโนทัย เริ่มศึกษาวิชาดนตรีเมื่ออายุ 10 ปี ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร กับอาจารย์ Motoko Funakoshi ในวิชาเอกขับร้อง ในปี พ.ศ. 2525 ได้เข้าร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย ขับร้องแสดง ณ โรงละครแห่งชาติ ในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และได้ร่วมขับร้องเพลงในหลายปีต่อมา ในปี 2529 ได้รับทุนด้านดนตรีและการขับร้องจาก Bangkok Music Society เนื่องด้วยมีความสนใจในวิชาร้องเพลงและประพันธ์เพลงมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จึงศึกษาด้วยตนเองเรื่อยมา ในปี 2528 และ 2529 ได้มีผลงานประพันธ์เพลง ชนะการประกวด Thailand Popular Song Festival ได้รับรางวัล Best Song Award 2 ปีติดต่อกัน หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาดนตรี ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวิชาเอกขับร้อง ในช่วงเวลานั้นเองที่ได้พบกับ อ. บรูซ แกสตัน และ ได้เข้าร่วมกับ วงดนตรีฟองน้ำ เดินทางไปแสดงดนตรีที่งาน World Expositon ’86 ที่ประเทศแคนาดา และได้เดินทางไปแสดงดนตรีไทยร่วมสมัยในอีกหลายประเทศในปีต่อๆ มา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และอเมริกา อีกทั้งยังได้มีโอกาสศึกษาการประพันธ์เพลงกับ อ. บรูซ แกสตัน ทั้งประเภท ดนตรีคลาสสิก ดนตรีไทย ดนตรีไทยประยุกต์ ดนตรีร่วมสมัย ดนตรีป๊อป ดนตรีแจ๊ส ดนตรี Electronic และ Computer เป็นต้น
นอกจากนั้นยังได้รับการแนะนำจาก อ. ดุษฎี พนมยงค์ ให้ไปสอนการขับร้องประสานเสียงที่ ชมรมคณะนักร้องประสานเสียง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ส่วนผลงานด้านประพันธ์เพลงมีมากมาย อาทิ ผลงานร่วมกับวงดนตรีฟองน้ำในหลายอัลบั้ม งานแสง-เสียงหน้าพระที่นั่ง คนดีศรีอยุธยา (ปี 2535 และ 2538) เพลงประกอบการแสดงแสง-เสียงของการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย ในชุด อยุธยายศยิ่งฟ้า ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ปี 2540) เพลง Original Score งานเสียง-เสียง สะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี อัลบั้ม น้ำใจน้องพี่สีชมพู ของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ อัลบั้ม ตะวันรุ่งทุ่งรังสิต ของมหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนั้น ยังมีเพลงประจำสถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย ฯลฯ และ เพลงสำหรับวง Symphony Orchestra "Jamjuree Fantasia" (ปี 2540) ซึ่งประพันธ์ให้กับวง CU Symphony Orchestra บรรเลงร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียง ในวาระฉลอง 80 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งผลงานดนตรีประกอบละครเวทีมากมาย เช่น เรื่อง ผู้มาเยือน ของคณะละคร 28, ขอรับฉัน และ เฟาสท์ ของคณะละครมรดกใหม่, ละครเพลง คู่กรรม เดอะมิวสิคัล ของ Dreambox ดนตรีประกอบการแสดงชุด แม่น้ำของแผ่นดิน ปีที่ 3 ถึง ปีที่ 5 ของสำนักพระบรมมหาราชวัง ฯลฯ ผลงาน ดนตรีที่ได้รับรางวัลคือ ดนตรีประกอบภาพยนตร์แอนิเมชัน พระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2550 และดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง แปดวัน แปลกคน ซึ่งได้รับ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2551 จากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบันยังคงทำงานสร้างสรรค์ดนตรีอิสระ และเป็นอาจารย์สอนขับร้องเพลง ให้แก่คณะนักร้อง ประสานเสียงมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และเป็นผู้อำนวยเพลง คณะนักร้อง ประสานเสียง สวนพลูคอรัส ซึ่งได้เดินทางไปแข่งขับร้องประสานเสียงโลก World Choir Games ทั้งที่ประเทศจีน เยอรมัน ออสเตรีย และได้รับรางวัลจากการประกวดระดับโลกทั้งเหรียญทองแดง และเหรียญเงิน ตามลำดับ