Top
ประวัติย่อ
ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน (Ludwig van Beethoven) (เข้าพิธีศีลจุ่มเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2313(ค.ศ. 1770) - เสียชีวิต 26 มีนาคม พ.ศ. 2370(ค.ศ. 1827) เป็นคีตกวีชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี
เบโทเฟนเป็นตัวอย่างของศิลปินยุคโรแมนติกผู้โดดเดี่ยว และไม่เป็นที่เข้าใจของบุคคลในยุคเดียวกันกับเขา ในวันนี้ เขาได้กลายเป็นคีตกวีที่มีคนชื่นชมยกย่องและฟังเพลงของเขากันอย่างกว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง การสูญเสียการได้ยิน ปัญหาของเขาเกี่ยวกับ คาร์ล หลานชายซึ่งเขาได้รับสิทธิ์เป็นผู้อุปถัมภ์ ความผิดหวังในความรัก และอารมณ์อันแปรปรวน ทำให้ชีวิตของเขาเหมือนเทพนิยายโรแมนติก ตำนานที่คงอยู่นิรันดร์เนื่องจากได้รับการยกย่องจากคีตกวีโรแมนติกทั้งหลาย เบโทเฟนได้กลายเป็นแบบอย่างของพวกเขาเหล่านั้นด้วยความเป็นอัจฉริยะที่ไม่มีใครเทียมทาน ซิมโฟนีของเขา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งซิมโฟนีหมายเลข 5 ซิมโฟนีหมายเลข 6 ซิมโฟนีหมายเลข 7 และ ซิมโฟนีหมายเลข 9) และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนที่เขาประพันธ์ขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนแชร์โตหมายเลข 4 และ 5) เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ก็มิได้รวมเอาความเป็นอัจฉริยะทั้งหมดของคีตกวีไว้ในนั้น
ลุดวิก ฟาน เบโทเฟนเกิดที่เมืองบอนน์ (ประเทศเยอรมนี) เมื่อวันที่ 16 หรือ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2313(ค.ศ. 1770) เนื่องจากเราทราบเพียงวันที่เขาได้เข้าพิธีศีลจุ่ม(17 ธันวาคม) ชื่อต้นของเขาเป็นชื่อเดียวกับปู่ (ที่จริงแล้ว เขามีพี่ชายที่ชื่อลุดวิกเหมือนกัน แต่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย) ครอบครัวของเขามีเชื้อสายเฟลมิช (จากเมืองเมเชเลนในประเทศเบลเยียม) ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าเหตุใด นามสกุลของเขาจึงขึ้นต้นด้วย ฟาน ไม่ใช่ ฟอน ตามที่หลายคนเข้าใจ
บิดาเป็นนักดนตรีไม่มีอันดับ และเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ เบโทเฟนจำต้องรับภาระดูแลครอบครัวตั้งแต่เยาว์วัย ความสามารถทางดนตรีของเขาโดดเด่นตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้บิดาของเขาพยายามจะหาผลประโยชน์จากเขาด้วยการบอกว่าเขาเป็นเด็กอัจฉริยะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ บิดาของเขาได้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยถึงกับโกงปีเกิดของเบโทเฟน บอกว่าเขาเกิดเมื่อปีค.ศ. 1772 ซึ่งที่จริงแล้วเขาเกิดในปีค.ศ. 1770
เบโทเฟน ตั้งรกรากที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่ออายุ 22 ปี และมีโอกาสเล่นเปียโนให้โมซาร์ทฟัง เมื่อโมซาร์ทได้ฟังฝีมือของเบโทเฟนแล้ว กล่าวกับเพื่อนว่าเบโทเฟนจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีต่อไป เบโทเฟนมีโอกาสศึกษาดนตรีกับโจเซฟ ไฮเดินพักหนึ่ง เขาประสบความสำเร็จในการแสดงคอนเสิร์ตในฐานะนักเปียโนเอก และผู้ที่สามารถเล่นได้โดยคิดทำนองขึ้นมาได้สดๆ จากนั้นเขาก็เริ่มประพันธ์บทเพลงบทแรกขึ้นมา แล้วจึงหันเหจากนักดนตรีมาเป็นผู้ประพันธ์เพลงในขณะที่อายุใกล้ 30 ปี เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีแนวแตกต่างไปจากดนตรียุคคลาสสิคคือ ใช้รูปแบบยุคคลาสสิค แต่ใช้เนื้อหาจากจิตใจ ความรู้สึกในการประพันธ์เพลง จึงทำให้ผลงานเป็นตัวของตัวเอง เนื้อหาของเพลงเต็มไปด้วยการแสดงออกของอารมณ์อย่างเด่นชัด
มีกลุ่มผู้ชื่นชมในผลงานของเบโทเฟนสนับสนุนการเงิน โดยมีข้อสัญญาว่าเบโทเฟนต้องอยู่ในเวียนนา ทำให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ และผลิตผลงานตามที่เขาต้องการโดยไม่ต้องรับคำสั่งจากใคร
ช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 เบโทเฟนโด่งดังมากในฐานะคีตกวีเอก ในช่วงนี้เองที่เขาได้รับพิษจากสารตะกั่ว ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็เริ่มสูญเสียการได้ยิน แต่ก็ยังคงประพันธ์เพลงต่อไป อาการสูญเสียการได้ยินมีมากขึ้น แต่เขาพยายามสร้างสรรค์ผลงานจากความสามารถและสภาพที่ตนเป็นอยู่ มีผลงานชั้นยอดเยี่ยมให้กับโลกแห่งเสียงเพลงเป็นจำนวนมาก ผลงานอันโด่งดังในช่วงนี้ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่เบโทเฟนถ่ายทอดท่วงทำนองออกมาเป็นจังหวะ สั้น - สั้น - สั้น - ยาว อาการไม่ได้ยินรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่เขาประพันธ์ออกมาเมื่อหูหนวกสนิทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819 เป็นต้นมา รวมทั้งบทเพลงควอเตตเครื่องสายที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาก็ประพันธ์ออกมาในช่วงเวลานี้เช่นกัน
ก่อนเสียชีวิต เบโทเฟนมีอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับหลานชายที่เขารับมาอุปการะ เขาถูกหาว่าเป็นคนบ้า และถูกเด็กๆขว้างปาด้วยก้อนหินเมื่อเขาออกไปเดินตามท้องถนน แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของเขาได้ เบโทเฟนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1827 งานพิธีศพของเขาได้จัดขึ้นอย่างอลังการในโบสถ์เซนต์ ตรินิตี โดยมีผู้มาร่วมงานกว่า 30,000 คน ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานกลางในกรุงเวียนนา
รูปแบบทางดนตรีและนวัตกรรม
ในประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว ผลงานของเบโทเฟนแสดงถึงช่วงรอยต่อระหว่างยุคคลาสสิก (ค.ศ. 1750 - ค.ศ. 1810) กับ ยุคโรแมนติก (ค.ศ. 1810 - ค.ศ. 1900) ในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเขา เบโทเฟนได้นำ้เสนอทำนองหลักที่เน้นอารมณ์รุนแรงในท่อนโหมโรง เช่นเดียวกับในอีกสี่ท่อนที่เหลือ (เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อยในผลงานประพันธ์ช่วงวัยเยาว์ของเขา) ช่วงต่อระหว่างท่อนที่สามกับท่อนสุดท้าย เป็นทำนองหลักของอัตทากาโดยไม่มีการหยุดพัก และท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 ได้มีการนำการขับร้องประสานเสียงมาใช้ในบทเพลงซิมโฟนีเป็นครั้งแรก (ในท่อนที่สี่) ผลงานทั้งหลายเหล่านี้นับเป็นนวัตกรรมทางดนตรีอย่างแท้จริง
เขาได้ประพันธ์โอเปราเรื่อง "ฟิเดลโอ" โดยใช้เสียงร้องในช่วงความถี่เสียงเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีในวงซิมโฟนี โดยมิได้คำนึงถึงขีดจำกัดของนักร้องประสานเสียงแต่อย่างใด หากจะนับว่าผลงานของเขาประสบความสำเร็จต่อสาธารณชน นั่นก็เพราะแรงขับทางอารมณ์ที่มีอยู่้อย่างเปี่ยมล้นในงานของเขา
ในแง่ของเทคนิคทางดนตรีแล้ว เบโฟเทนได้ใช้ทำนองหลักหล่อเลี้ยงบทเพลงทั้งท่อน และนับเ้ป็นผลสัมฤทธิ์ทางดนตรีที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มข้นทางจังหวะที่มีความแปลกใหม่อยู่ในนั้น เบโทเฟนได้ปรับแต่งทำนองหลัก และเพิ่มพูนจังหวะต่างๆเพื่อพัฒนาการของบทเพลงเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ
เขาใช้เทคนิคนี้ในผลงานเลื่องชื่อหลายบท ไม่ว่าจะเป็นท่อนแรกของคอนแชร์โตหมายเลข 4 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรก) ท่อนแรกของซิมโฟนีหมายเลข 5 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรกเช่นกัน) ท่อนที่สองของซิมโฟนีหมายเลข 7 (ในจังหวะอนาเปสต์) การนำเสนอความสับสนโกลาหลของท่วงทำนองในรูปแบบแปลกใหม่ตลอดเวลา ความเข้มข้นของท่วงทำนองตั้งแ่ต่ช่วงเริ่มต้นที่ย้อนกลับมาสู่โสตประสาทของผู้ฟังอยู่เรื่อยๆอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้เกิดความประทับใจต่อผู้ฟังอย่างถึงขีดสุด
เบโทเฟนยังเป็นบุคคลแรกๆที่ศึกษา้ศาสตร์ของวงออร์เคสตราอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบทเพลง การต่อบทเพลงเข้าด้วยกันโดยเปลี่ยนรูปแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโน้ตแผ่นที่เขาเขียนให้เครื่องดนตรีช้ินต่างๆนั้นได้แสดงให้เห็นวิธีการนำเอาธีมหลักกลับมาใช้ในบทเพลงเดียวกันในรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ โดยมีการปรับเปลี่ยนเสียงประสานเล็กน้อยในแต่ละครั้ง การปรับเปลี่ยนโทนเสียงและสีสันทางดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง เปรียบได้กับการเริ่มบทสนทนาใหม่ โดยที่ยังรักษาจุดอ้างอิงของความทรงจำเอาไว้
สาธารณชนในขณะนี้จะรู้จักผลงานซิมโฟนีและคอนแชร์โตของเบโทเฟนเสียเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยคนที่ทราบว่าผลงานการคิดค้นแปลกใหม่ที่สุดของเบโทเฟนนั้นได้แก่แชมเบอร์มิวสิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนาตาสำหรับเปียโน 32 บท และบทเพลงสำหรับวงควอเตตเครื่องสาย 16 บท นั้นนับเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางดนตรีอันเจิดจรัส --- โซนาตาสำหรับเครื่องดนตรีสองหรือสามชิ้นนับเป็นผลงานสุดคลาสสิก --- บทเพลงซิมโฟนีเป็นผลงานคิดค้นรูปแบบใหม่ --- ส่วนบทเพลงคอนแชร์โตนั้น ก็นับว่าควรค่าแก่การฟัง
ผลงานซิมโฟนี
โจเซฟ ไฮเดินได้ประพันธ์ซิมโฟนีไว้กว่า 100 บท โมซาร์ทประพันธ์ไว้กว่า 40 บท หากจะนับว่ามีคีตกวีรุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว เบโทเฟนไม่ได้รับถ่ายทอดมรดกด้านความรวดเร็วในการประพันธ์มาด้วย เพราะเขาประพันธ์ซิมโฟนีไว้เพียง 9 บทเท่านั้น และเพิ่งจะเริ่มประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 10 แต่สำหรับซิมโฟนีทั้งเก้าบทของเบโทเฟนนั้น ทุกบทต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ซิมโฟนีสองบทแรกของเบโทเฟนได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากดนตรีในยุคคลาสสิก อย่างไรก็ดี ซิมโฟนีหมายเลข 3 ที่มีชื่อเรียกว่า "อิรอยอิเคอร์" จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเรียบเรียงวงออร์เคสตราของเบโทเฟน ซิมโฟนีบทนี้แสดงถึงความทะเยอทะยานทางดนตรีมากกว่าบทก่อนๆ เฮโรอิกโดดเด่นด้วยความสุดยอดของเพลงทุกท่อน และการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตรา เพราะแค่ท่อนแรกเพียงอย่างเดียวก็มีความยาวกว่าซิมโฟนีบทอื่นๆที่ประพันธ์กันในสมัยนั้นแล้ว ผลงานอันอลังการชิ้นนี้ได้ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นโปเลียน โบนาปาร์ต และส่งเบโทเฟนขึ้นสู่ตำแหน่งสุดยอดสถาปนิกทางดนตรี และเป็นคีตกวีคนแรกแห่้งยุคโรแมนติก
แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นซิมโฟนีที่สั้นกว่าและคลาสสิกกว่าซิมโฟนีบทก่อนหน้า ท่วงทำนองของโศกนาฏกรรมในท่อนโหมโรงทำให้ซิมโฟนีหมายเลข 4 เป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการทางรูปแบบของเบโทเฟน ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยซิมโฟนีสุดอลังการสองบทที่ถูกประพันธ์ขึ้นในคืนเดียวกัน อันได้แก่ซิมโฟนีหมายเลข 5 และซิมโฟนีหมายเลข 6 - หมายเลข 5 นำเสนอทำนองหลักเป็นโน้ตสี่ตัว สั้น - สั้น - สั้น - ยาว สามารถเทียบได้กับซิมโฟนีหมายเลข 3 ในแง่ของความอลังการ และยังนำเสนอรูปแบบทางดนตรีใหม่ด้วยการนำทำนองหลักของโน้ตทั้งสี่ตัวกลับมาใช้ตลอดทั้งเพลง ส่วนซิมโฟนีหมายเลข 6 ที่มีชื่อว่า ปาสตอราล นั้นชวนให้นึกถึงธรรมชาติที่เบโทเฟนรักเป็นหนักหนา นอกเหนือจากช่วงเวลาที่เงียบสงบชวนฝันที่ผู้ฟังสามารถรู้สึกได้เมื่อฟังซิมโฟนีบทนี้แล้ว มันยังประกอบด้วยท่อนที่แสดงถึงพายุโหมกระหน่ำที่เสียงเพลงสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเหมือนจริงที่สุดอีกด้วย
แม้ว่าซิมโฟนีหมายเลข 7 จะมีท่อนที่สองที่ใช้รูปแบบของเพลงมาร์ชงานศพ แต่ก็โดดเด่นด้วยรูปแบบที่สนุกสนานและจังหวะที่รุนแรงเร่าร้อนในท่อนจบของเพลง ริชาร์ด วากเนอร์ได้กล่าวถึงซิมโฟนีบทนี้ว่า เป็น "ท่อนจบอันเจิดจรัสสำหรับการเต้นรำ" ซิมโฟนีบทต่อมา (ซิมโฟนีหมายเลข 8) เป็นการย้อนกลับมาสู่รูปแบบคลาสสิก ด้วยท่วงทำนองที่เปล่งประกายและสื่อถึงจิตวิญญาณ
ท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 เป็นซิมโฟนีบทสุดท้ายที่เบโทเฟนประพันธ์จบ นับเป็นอัญมณีแห่งซิมโฟนีทั้งหลาย ประกอบด้วยบทเพลงสี่ท่อน รวมความยาวกว่าหนึ่งชั่วโมง และมิได้ยึดติดกับรูปแบบของโซนาตา แต่ละท่อนของซิมโฟนีบทนี้นับได้ว่าเป็นผลงานชั้นครูในตัวเอง แสดงให้เห็นว่าเบโทเฟนได้หลุดพ้นจากพันธนาการของยุคคลาสสิก และได้ค้นพบรูปแบบใหม่ในการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตราในที่สุด ในท่อนสุดท้าย เบโทเฟนได้ใส่บทร้องประสานเสียงและวงควอเตตประสานเสียงเข้่าไป เพื่อขับร้อง "บทเพลงแห่งความอภิรมย์" ซึ่งเป็นบทกวีของ เฟรดริก ฟอน ชิลเลอร์ บทประพันธ์ชิ้นนี้ำได้เรียกร้องให้มีความรักและภราดรภาพในหมู่มวลมนุษย์ และซิมโฟนีบทนี้ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก "บทเพลงแห่งความอภิรมย์" ยังได้ถูกเลือกให้เป็นบทเพลงประจำชาติของยุโรปอีกด้วย
นอกเหนือจากซิมโฟนีแล้ว เบโทเฟนยังได้ประพันธ์ คอนแชร์โตสำหรับไวโอลิน ที่สุดแสนไพเราะไว้อีกด้วย และำได้ถ่ายทอดบทเพลงเดียวกันออกมา้เป็นคอนแชร์โตสำหรับเปียโน ที่ใช้ชื่อว่า คอนแชร์โตหมายเลข 6 นอกจากนั้นก็ยังมี คอนแชร์โตสามชิ้นสำหรับไวโอลิน เชลโล และ เปียโน และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนอีก 5 บท ซึ่งในบรรดาคอนแชร์โตทั้งห้าบทนี้ คอนแชร์โตหมายเลข 5 สำหรับเปียโน นับว่าเป็นรูปแบบของเบโทเฟนที่เด่นชัดที่สุด แต่ก็ไม่ควรลืมช่วงเวลาอันเข้มข้นในท่อนที่สองของคอนแชร์โตหมายเลข 4 สำหรับเปียโน
เบโทเฟนยังได้ประพันธ์เพลงโหมโรงอันเยี่ยมยอดไว้หลายบท (เลโอนอร์, ปิศาจแห่งโพรเมเธอุส) ฟ็องเตซีสำหรับเปียโน วงขับร้องประสานเสียง และวงออร์เคสตราอีกหนึ่งบท ซึ่งทำนองหลักทำนองหนึ่งของเพลงนี้ได้กลายมาเป็นต้นแบบของ "บทเพลงแห่งความอภิรมย์"
นอกจากนี้ยังมีเพลงสวดมิสซา ซึ่งมี มิสซา โซเลมนิส โดดเด่นที่สุด ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานดนตรีขับร้องทางศาสนาที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ท้ายสุด เบโทเฟนได้ฝากผลงานประพันธ๋โอเปราเรื่องแรกและเรื่องเดียวไว้ มีชื่อเรื่องว่า ฟิเดลิโอ นับเป็นผลงานที่เขาผูกพันมากที่สุด อีกทั้งยังทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจไปมากที่สุดอีกด้วย