หนึ่งในนักสร้างภาพยนตร์ชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด แฮร์ซ็อกเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1942 ณ เมืองมิวนิค แต่ต้องย้ายหนีภัยสงครามโลกไปอยู่ในหมู่บ้านอันห่างไกล ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายกลับมายังมิวนิคตอนที่เขาอายุได้ 12 ปี เมื่ออายุ 14 ปี แฮร์ซ็อกเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นนักสร้างภาพยนตร์ และแม้ว่าจะได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาก็เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยมิวนิคแทน
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 แฮร์ซ็อกทำงานพิเศษช่วงกลางคืนเป็นช่างเชื่อมในโรงงานเหล็กแห่งหนึ่ง เพื่อหาเงินมาเป็นทุนสร้างภาพยนตร์ เขามักพบปะเสวนากับกลุ่มคนทำภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ของเยอรมัน เช่น ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์, มากาเรเทอ ฟอน ทร็อทตา, โวลเกอร์ ชเลินดอร์ฟ, ฮันส์ เจอร์เกน ไซเบอร์แบร์ก และวิม เวนเดอร์ส
ภาพยนตร์ของแฮร์ซ็อกมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับวีรบุรุษและความฝันที่อยู่ไกลเกินเอื้อม, คนมีพรสวรรค์ที่ถูกบดบัง หรือคนที่ต้องต่อสู้กับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ผลงานของเขาชนะรางวัลมากมายนับไม่ถ้วน รางวัลสำคัญชิ้นแรกคือ รางวัล Silver Bear ประจำปี 1968 จาก Signs of Life ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ต่อมาในปี 1979 ภาพยนตร์เรื่อง Nosferatu the Vampyre ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล Golden Bear แฮร์ซ็อกได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมประจำปี 1982 ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จากผลงานเรื่อง Fitzcarraldo และในปี 1975 ภาพยนตร์เรื่อง The Enigma of Kaspar Hauser ก็ไปชนะรางวัล The Special Jury Prize (หรือ Silver Palm) จากเมืองคานส์อีกครั้ง
ผลงานเรื่องอื่นของเขาก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์สำคัญทั่วโลก อาทิ รางวัลซีซาร์ (Aguirre, Wrath of God), รางวัลเอ็มมี่ (Little Dieter Needs to Fly), รางวัลยูโรเปียน ฟิล์ม (My Best Fiend) และรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ (Scream of Stone, The Wild Blue Yonder)
ภาพยนตร์ของแฮร์ซ็อกได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อยู่เสมอ และได้รับเชิญให้ไปฉายในเทศกาลศิลปะต่างๆ เป็นประจำ เนื่องจากมันมักนำเสนอประเด็นของความขัดแย้ง ที่เกี่ยวพันกับทั้งในเนื้อหาของเรื่อง และสาระที่มันสื่อออกมา ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดคือเรื่อง Fitzcarraldo ที่ความหมกมุ่นลุ่มหลงของตัวละครหลักในเรื่องถูกสะท้อนออกมาโดยตัวผู้กำกับ ดังจะเห็นได้ใน Burden of Dreams สารคดีที่บันทึกเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ Fitzcarraldo และผลงานลำดับต่อมาอย่าง Invincible (2001) ล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากละครโอเปร่า
แฮร์ซ็อกภูมิใจที่เขาไม่เคยใช้สตอรี่บอร์ดในการถ่ายทำเลย เขามักใช้วิธีด้นสด (อิมโพรไวซ์) และยังชอบใช้นักแสดงมืออาชีพ ควบคู่ไปกับนักแสดงสมัครเล่นซึ่งส่วนใหญ่คือคนท้องถิ่นในเมืองที่เขาถ่ายทำภาพยนตร์อยู่นั่นเอง