รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ เป็นลูกของ คิด โกศัลวัฒน์ จิตรกรเขียนภาพสมัยใหม่ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของไทย ด้วยความที่พ่อเป็นจิตรกรจึงปลูกฝังให้บรรจงสนใจและรักที่จะเป็นจิตรกร บรรจงเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่างและเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2507 แต่ต่อมาได้ตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตเป็นจิตรกร เดินทางวาดรูปไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมกันนั้นก็นำผลงานออกแสดงสู่สาธารชน บางครั้งก็แสดงร่วมกับศิลปินมีชื่อเช่น ถวัลย์ ดัชนี กมล ทัศนาญชลี จักรพันธ์ โปษยกฤษ
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2510 บรรจง โกศัลวัฒน์ ได้รับทุนจากมูลนิธิ จอห์น ดี ร้อกกี้เฟลเลอร์ที่ 3 ไปทัศนศึกษาที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งที่สหรัฐอเมริกานี้เอง บรรจงได้มีโอกาสสัมผัสและชื่นชมงานศิลปที่สร้างด้วยสื่อภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ด้วยความตื่นตาตื่นใจ ทำให้เขาลงทะเบียนเรียนหลักสูตรภาพยนตร์ระยะสั้นที่ Millinium Film Workshop และได้สร้างงานศิลปด้วยฟิล์มภาพยนตร์เป็นครั้งแรก เรื่อง Eye ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นภาพยนตร์ทดลอง เรื่องแรกของคนไทย
ต่อมาบรรจง ยังได้สร้างภาพยนตร์ทดลองอีกสองเรื่อง คือ Gamma และ Vortex ในปี พ.ศ. 2511 และได้ตัดสินใจศึกษาต่อในวิชาภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค เป็นเวลา 2 ปี ได้สร้างภาพยนตร์เป็นงานศิลปนิพนธ์เรื่อง The Crossing หรือ ข้ามฟาก ในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งเมื่อส่งเข้าประกวดในงานเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ได้รับรางวัลกลับมาหลายรางวัล
บรรจง โกศัลวัฒน์ เดินทางกลับประเทศไทย หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา 3 ปี เขากลับมาเป็นศิลปินซึ่งไม่ใช้เพียงพู่กันและผืนผ้าใบ แต่ได้ใช้กล้องและฟิล์มถ่ายทำภาพยนตร์ สร้างภาพยนตร์ทดลองควบคู่ไปกับรับจ้างทำภาพยนตร์สารคดีให้หน่วยงานรัฐและเอกชนบางแห่ง ขณะเดียวกันก็นำผลงานภาพยนตร์ของเขาเองและศิลปินภาพยนตร์จากต่างประเทศมาจัดฉายสู่สาธารณชน ตามศูนย์ศิลปและศูนย์วัฒนธรรมบางแห่ง ในเวลานั้น รวมทั้งได้ออกแสดงทางโทรทัศน์เป็นระยะ พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านภาพยนตร์ศิลปหรือภาพยนตร์ทดลองแก่ผู้ชมชาวไทยไปด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการบุกเบิกแนะนำภาพยนตร์ทดลองอย่างเป็นทางการขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2513
ด้วยความโดดเด่นในฐานะผู้บุกเบิกและแนะนำภาพยนตร์ทดลองหรือภาพยนตร์ศิลปแก่สังคมไทยเช่นนี้เอง บรรจงจึงได้รับการชักชวนจากศาสตราจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ หัวหน้าแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ไปช่วยสอนวิชาภาพยนตร์ซึ่งแผนกฯได้เปิดวิชานี้ขึ้นจากการเข้าชื่อเรียกร้องของนักศึกษาในปี พ.ศ. 2513 นั้นเอง
ปี พ.ศ. 2515 บรรจง โกศัลวัฒน์ ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำของแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ทำหน้าที่สอนวิชาภาพยนตร์ ซึ่งเปิดสอนขึ้นเป็นครั้งแรกในระดับอุดมศึกษา นับเป็นผู้สอนคนแรกและเพียงคนเดียว ในสถานการณ์ที่เกือบจะไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ให้เลย ต้องอาศัยหยิบยืมและนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาให้นักศึกษาใช้
แต่นับจากปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา หลักสูตรวิชาภาพยนตร์ของแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับที่แผนกได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จนปัจจุบันนี้หลักสูตรวิชาภาพยนตร์ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนได้รับการพัฒนาจนนับได้ว่าก้าวหน้าที่สุดในบรรดาสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนวิชานี้อยู่ด้วยกัน
สาขาวิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ผลิตบัณฑิตด้านภาพยนตร์ออกไปสู่สังคมไทยได้นับร้อย ๆ คนแล้ว ซึ่งบัณฑิตส่วนหนึ่งทำงานอยู่ในวงวิชาชีพ มีบทบาทสำคัญหรือประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงอยู่ในวงการนี้ และจำนวนหนึ่งทำงานในวงการศึกษา มีบทบาทในการจัดตั้งและพัฒนาหลักสูตรวิชาภาพยนตร์ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง
ผลงานภาพยนตร์นักศึกษาของคณะวารสารศาสตร์ ได้สร้างเกียรติภูมิโดยเฉพาะจากการเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ทั้งในระดับชาติแบะนานาชาติ ได้รับรางวัลอยู่เสมอ เป็นเกียรติภูมิของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเกียรติภูมิของประเทศไทย
ในระยะต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้อาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย สามารถออกไปทำงานเพื่อหาประสบการณ์ในวิชาชีพจริงได้ เป็นประโยชน์ในการนำกลับมาใช้สอนในห้องเรียน อาจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ ได้เข้าไปทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเป็นระยะ ๆ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปช่วยทำงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวิชาชีพจริงด้วยเสมอ
ผลงานภาพยนตร์ไทยของอาจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ ยังได้รับการยอมรับเป็นผลงานภาพยนตร์ร่วมสมัยที่สำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย ได้แก่เรื่อง นวลฉวี สายน้ำไม่ไหลกลับ คำสิงห์ ซีอุย แซ่อี้ง เร็วกว่าใจไกลเกินฝัน และ คู่กรรมภาค 2
บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของอาจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ ในฐานะนักวิชาการด้านภาพยนตร์ซึ่งมองเห็นคุณค่าแท้จริงของภาพยนตร์ คือการที่ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเรียกร้องผลักดันให้กรมศิลปากรจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่อนุรักษ์และเผยแพร่มรดกภาพยนตร์ของชาติ จนเป็นผลสำเร็จ
ในวงวิชาการศิลปสมัยใหม่ของไทย เรานับถือยกย่องให้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นครูใหญ่หรือบุรพาจารย์หรือบิดาแห่งศิลปสมัยใหม่ของประเทศไทย
หากกล่าวเฉพาะในวงวิชาการภาพยนตร์ในประเทศไทย อาจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ ก็สมควรได้รับการนับถือยกย่องให้เป็นครูใหญ่หรือบุรพาจารย์หรือบิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ของประเทศไทย
มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ได้มีมติมอบรางวัลอนุสรมงคลการ ประจำปี พ.ศ. 2543 แด่ รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ เพื่อประกาศเกียรติคุณในฐานะท่านเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ขึ้นในประเทศไทย ด้วยความอุตสาหะวิริยะและอุทิศตัวอย่างต่อเนื่องยาวนานนับสามสิบปี จนประสพผลสำเร็จอย่างดียิ่ง และกำลังเจริญก้าวหน้าอยู่ในปัจจุบัน นับได้ว่าเป็นคุณูปการ ที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อวงการศึกษาและวงการภาพยนตร์โดยส่วนรวม