กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือรู้จักกันดีในนามปากกาว่า ศรีบูรพา กุหลาบเกิดในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นคนกรุงเทพ บิดาชื่อสุวรรณ เป็นเสมียนเอก กรมรถไฟ แม่ชื่อสมบุญ เป็นชาวนาจาก จ.สุพรรณบุรี เริ่มต้นเรียนหนังสือเมื่ออายุ 4 ขวบ ที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง จนถึงชั้น ป.4 บิดาได้ช่วยสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากทำงานกับฝรั่งที่กรมรถไฟ บิดาเสียชีวิตเมื่ออายุ 35 ปี ขณะที่กุหลาบอายุเพียง 6 ขวบ
หลังจากจบ ป.4 เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนทหารเด็กของกรมหลวงนครราชสีมาฯ เรียนอยู่ 2 ปี มารดาอยากให้ลูกเรียนวิชาทั่วไปมากกว่า จึงให้มาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ในชั้นมัธยม 2 จนจบมัธยม 8 ในปี พ.ศ.2468 และต่อมายังไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และสอบได้ธรรมศาสตรบัณฑิต ระหว่างเรียนที่เทพศิรินทร์ ได้เริ่มเขียนหนังสือ ทำหนังสือพิมพ์อ่านในชั้นเรียน มี ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ซึ่งต่อมาจะเป็นนักประพันธ์เอกอีกคน ร่วมด้วย ขณะที่ยังเรียนที่เทพศิรินทร์ ได้เข้าทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนรวมการสอน และเป็นนักประพันธ์ในสำนักรวมการแปล
นามปากกาศรีบูรพา เริ่มใช้เมื่อปี 2466 ขณะอายุได้ 18 ปี โดยโกศล โกมลจันทร์ ผู้จัดการสำนักที่กุหลาบทำงานอยู่ เป็นเจ้าของนามปากกา ศรีเงินยวง ได้ตั้งนามปากกาให้นักเขียนรุ่นน้องหลายคน โดยมีคำว่า ศรี นำหน้า
พ.ศ.2468 จบมัธยม 8 เมื่ออายุ 20 ปี ได้เริ่มงานบรรณาธิการทันที กับหนังสือสาส์นสหาย ของสำนักงานที่ทำงานอยู่นั่นเอง ออกมาได้ 7 เล่มหมดทุน จากนั้นเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ของกรมยุทธศึกษา ได้เงินเดือน 30 บาท
พ.ศ.2469 อายุได้ 21 ปี มีงานประพันธ์อีกหลายเรื่อง ลงในนิตยสารและหนังสือต่าง ๆ รวมถึงหนังสือ ข่าวสด ที่ออกในงานรื่นเริงของโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์
ระหว่างทำงานที่หนังสือกรมยุทธศึกษา พบความไม่เป็นธรรมหลายประการ ทั้งท่าทีวางเขื่องของทหารต่อเพื่อนร่วมงานที่เป็นพลเรือน และเจอระบบเล่นพรรคพวก เมื่อสอบแข่งเป็นผู้ช่วยล่ามกรมแผนที่ได้ที่ 1 แต่กรมแผนที่ กลับอยากให้คนที่สอบได้ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกผู้มีบรรดาศักดิ์รับตำแหน่ง กุหลาบตัดสินใจเลิกคิดเอาดีทางราชการ เบนชีวิตมาเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ลาออกจากผู้ช่วยบรรณาธิการเสนาศึกษาฯ มาก่อตั้งกลุ่มสุภาพบุรุษ รวบรวมเอานักเขียนนักหนังสือพิมพ์หนุ่ม มาออกหนังสือพิมพ์ และสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นในวงการหนังสือพิมพ์และวงการประพันธ์
สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับแรกออกวางเมื่อ 1 มิ.ย.2472 ขายปลีกเล่มละ 30 สตางค์ สมาชิกปีละ 6 บาท ครึ่งปี 3.50 บาท มีกุหลาบ ในวัย 23 ปี เป็นบรรณาธิการ มีนักเขียนเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นส่วนมาก บทบรรณาธิการ ประกาศรับซื้อเรื่องจากนักประพันธ์ ยกระดับอาชีพนักเขียนที่ปกติได้เงินบ้างไม่ได้บ้าง ให้เป็นอาชีพที่ยังชีพได้ด้วยมันสมองของตนเอง ฉบับแรก มียอดพิมพ์ 2,000 เล่ม ขายหมด ฉบับที่ 2 เพิ่มเป็น 2,300 เล่ม และเป็น 2,500 เล่มในฉบับต่อมา ออกมาได้ 37 ฉบับ ก็มายุติลงในปี 2473 ภายหลังจากกุหลาบ รับคำเชิญไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกการเมือง
กุหลาบได้ปรับปรุงบางกอกการเมืองจนเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว มียอดจำหน่ายสูง แต่เกิดปัญหาเมื่อเสนอข่าวเจ้ากรมมหาดเล็กหกล้มหน้าพระที่นั่ง ผู้ตกเป็นข่าวไม่พอใจและพยายามบีบเจ้าของทุน จึงยกทีมลาออกหลังจากทำมาได้ 3 เดือนเท่านั้นเอง ปลายปี 2473 คณะสุภาพบุรุษ เข้าไปทำหนังสือพิมพ์รายวัน ไทยใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือที่ก้าวหน้าโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อ ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอีก 2 ปีต่อมา
ในปี 2474 ไทยใหม่เสนอบทความ ชีวิตของประเทศ โดยศรทอง อันเป็นนามปากกาของพระยาศราภัยพิพัฒน์ เรียกร้องให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบรัฐสภา ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากทางราชการสมัยนั้น บทความสำคัญของกุหลาบ เรื่องมนุษยภาพ ก็ได้ตีพิมพ์ที่นี่ และทำให้มีการส่งหลวงวิจิตรวาทการ เข้ามาถือหุ้นหนังสือ และเบี่ยงเบนนโยบายไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
กุหลาบเข้าไปทำหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และเขียนบทความมนุษยภาพต่อ ส่งผลให้ศรีกรุงถูกปิด ในระยะเดียวกันนี้ ได้เขียนนวนิยายสงครามชีวิตที่ได้เค้าจาก Poor People ของดอสโตเยฟสกี้ นักเขียนรัสเซีย
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิ.ย.2475 ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งต่อมามีพระอิสริยยศเป็นพล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ให้กุหลาบเป็นบรรณาธิการ ออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ 1 ต.ค.2475 มีคำขวัญประจำหนังสือพิมพ์ว่า บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิตต์ วิทยาคม อุดมสันติสุข นวนิยายอมตะที่ได้ตีพิมพ์ที่ประชาชาติ ระยะนี้ได้แก่ ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ หรือโชติ แพร่พันธุ์ การเสนอข่าวและบทความที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ประชาชาติถูกปิดถึง 2 ครั้งด้วยกัน
ปี 2478 แต่งงานกับชนิด ปริญชาญกล อาชีพครูและแปลหนังสือ ใช้นามปากกาว่า จูเลียต มีบุตร 2 คน คือ พ.ญ.สุรภิน ธนะโสภณ และนายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์
พ.ศ.2479 หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาคือจอมพลป.พิบูลสงคราม มีอำนาจมาก และไม่พอใจการเสนอข่าวของประชาชาติ กุหลาบไม่ประสงค์ให้เกิดปัญหากับเจ้าของทุน จึงไปดูงานหนังสือพิมพ์ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 เดือน ตามคำเชิญของหนังสือพิมพ์อาซาฮี และกลับมาเขียนนิยายข้างหลังภาพ ที่ใช้ฉากในญี่ปุ่น
หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบรรณาธิการ ทีมสุภาพบุรุษลาออก กุหลาบไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลที่มีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการ เขียนคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ของจอมพลป.พิบูลสงคราม คัดค้านรัฐบาลที่ร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลก ถูกจับกุมและขังอยู่ 3 เดือนในข้อหากบฏภายในประเทศ แต่คดีไม่มีมูลในปี 2485
พ.ศ.2488-2489 เป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ และเขียนหนังสือพิมพ์อยู่ที่บ้าน
พ.ศ. 2493 เดินทางไปศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย กลับมาเขียน จนกว่าเราจะพบกันอีก และแปลเรื่องเขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร เสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดเก่า ๆ อย่างกล้าหาญ
พ.ศ.2495 เป็นรองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพ คัดค้านการส่งทหารไปร่วมรบในเกาหลี รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์ นำสิ่งของไปแจกชาวอีสานที่ประสบภัยธรรมชาติ ถูกจับกุมข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร พร้อมกับนักหนังสือพิมพ์ และบุคคลอาชีพต่าง ๆ จำนวนมาก ถูกตัดสินจำคุกเป็นคณะใหญ่ 13 ปี 4 เดือน ที่เรือนจำบางขวาง ถูกคุมขังอยู่ 4 ปีเศษ ได้รับนิรโทษกรรมในวโรกาสครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ ในปีพ.ศ.2500
ระหว่างติดคุกได้แปลนิยายก้าวหน้าเรื่อง แม่ ของแม็กซิม กอร์กี้ และเขียนแลไปข้างหน้า นวนิยายที่สะท้อนการเมือง สังคมและการเปลี่ยนแปลงในระยะนั้น และถือเป็นเรื่องดีที่สุดของศรีบูรพา
นอกจากเขียนหนังสือแนวก้าวหน้า ศรีบูรพายังเป็นผู้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เคยไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ของท่านพุทธทาส และเขียนหนังสือแนวศาสนาออกมาหลายเล่ม
เดือนพ.ย.2500 รับเชิญไปในงานฉลอง 40 ปีการปฏิวัติโซเวียต ก่อนจะนำทีมคณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2501 ระหว่างนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร จับกุมนักหนังสือพิมพ์และประชาชนวงการต่าง ๆ จำนวนมาก ศรีบูรพาตัดสินใจลี้ภัยอยู่ในจีน และยังมีบทบาทในเรื่องทางวัฒนธรรมและวรรณกรรม
เมื่อนักศึกษาประชาชนลุกฮือขับไล่เผด็จการ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ศรีบูรพาได้รับทราบด้วยความยินดี น่าเสียดายที่ไม่นานจากนั้น ก็ล้มป่วย และถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบตัน ในวันที่ 16 มิ.ย.2517