ทมยันตี เป็นนามปากกาของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ชื่อเดิม วิมล เจียมเจริญ) เป็นนักประพันธ์นวนิยาย ผลงาน อาทิ คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, พ่อปลาไหล, ล่า, เวียงกุมกาม, นากพัทธ์, พิษสวาท, อนธการ, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, จิตา และอื่น ๆ ซึ่งมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายยุคหลายสมัย
วิมล ได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายทหาร และมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะในช่วง เหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 วิมลมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล และแม่บ้าน กับทั้งเคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่า เป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วิมลได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
นอกจากความสัมพันธ์กับฝ่ายทหารในด้านหน้าที่การงานแล้ว ในด้านความประพฤติส่วนตัวนั้น วิมล ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ยังเคยถูกศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นชู้กับนายทหารซึ่งเป็นเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาด้วยกัน และให้หย่าขาดจากสามีด้วย คดีนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ คดีทมยันตี หรือ คดีชู้รักบันลือโลก
วิมลนิยมการใช้สำนวนภาษาตามแบบหลวงวิจิตรวาทการ และนักเขียนสตรีรุ่นเก่า คือ ร. จันทพิมพะนวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม ทั้งสองภาค ดั่งดวงหฤทัย ทวิภพ แต่งกับงาน พี่เลี้ยง เถ้ากุหลาบ ร่มฉัตร พ่อปลาไหล ในฝัน เป็นต้น นวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คู่กรรม ภาคหนึ่ง
วิมลมีนามปากกา 5 ชื่อ ได้แก่
โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า "กุหลาบราชินี" ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย
ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย
กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง
ทมยันตี (อ่านว่า ทะ-มะ-ยัน-ตี) เป็นนามปากกาที่ใช้แต่งเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตและสังคม รวมทั้งแต่งเรื่องแนวจิตวิญญาณ
มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน
แม้ไม่ปรากฏว่างานเขียนของทมยันตีเคยได้รับรางวัลสำคัญ แต่เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าทมยันตีถือเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นจำนวนมาก เหตุผลที่ไม่มีผลงานของทมยันตีได้รับรางวัลทางวรรณกรรมใด ๆ นั้น เป็นเพราะทมยันตีไม่ประสงค์ให้นำผลงานของตนไปส่งประกวด และปฏิเสธการรับรางวัลทั้งปวง ทมยันตีได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มาแล้ว นั่นคือรางวัลสูงสุดในชีวิต จากนั้นไม่เคยอยากได้รางวัลใด ๆ อีกเลย" และในขณะนี้ ทมยันตีได้เริ่มลงมือเขียนเรื่อง 'จอมศาสดา' ซึ่งจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ทมยันตีจะเขียนแล้ว จากนั้นทมยันตีจะหันหน้าเข้าสู่ความสงบใต้ร่มพระศาสนา