ดร. ไตรภพ ลิมปพัทธ์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง มีชื่อเสียงจากรายการ ทไวไลท์โชว์ และฝันที่เป็นจริง ทางไทยทีวีสีช่อง 3 และเป็นประธานกรรมการบริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด รวมไปถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี กับทางธนาคารไทยพาณิชย์ สหศินิม่า ฯลฯ จนต่อมาขึ้นเป็นผู้อำนวยการไอทีวีอยู่ระยะหนึ่งด้วย
ไตรภพ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรชายคนโต ในบรรดาบุตรทั้งหมด 4 คน ของนายอุไร และนางสังวรณ์ ลิมปพัทธ์ (ประกอบด้วย ดร. ไตรภพ, บดินทร์, ก่อเกียรติ และ ดร.พิมพ์อุไร) ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับ พิจิตรา มีบุตรธิดา 2 คน คนโต ผู้ชาย ชื่อ "พัทธยศ" (ตูน) สมรสกับ สุทธินีย์ พรหมสุวรรณ และ คนเล็ก เป็นผู้หญิง ชื่อ "ไตรตรา" (ตาล) ด้านการศึกษา เข้ารับพระราชทานปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มการทำงาน โดยเข้าเป็นเสมียนพิมพ์ดีดหน้าบัลลังก์ศาล
เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิง ด้วยการเข้าแข่งขันในรายการ ล้มเค้า ทาง ททบ.5 และได้เริ่มงานเป็นพิธีกร ในรายการ พลิกล็อก (พ.ศ. 2525) ทาง ททบ.5, ท้าพิสูจน์ ทางช่อง 7 สี และ ลาภติดเลข พร้อมกับรับงานแสดงเป็นครั้งคราวไปด้วย โดยบทบาทการแสดง ซึ่งเป็นที่จดจำคือ รับบท มังตราตะเบ็งชะเวตี้ ในละครโทรทัศน์ ผู้ชนะสิบทิศ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2532
จากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2527 ไตรภพ ได้ร่วมกับ ก่อเกียรติ น้องชาย ก่อตั้ง บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด เพื่อผลิตรายการโทรทัศน์ ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยเริ่มต้นจากรายการ เอาไปเลย เป็นลำดับแรก แต่มีชื่อเสียงโด่งดังมากยิ่งขึ้นด้วยรายการ ฝันที่เป็นจริงในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งถือได้ว่า ไตรภพเป็นที่จดจำของผู้ชมอย่างมากจากรายการนี้ หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2533 ไตรภพเริ่มผลิตรายการวาไรอิตีทอล์กโชว์ ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นคือ ทไวไลท์โชว์ ออกอากาศทุกบ่าย-เย็นวันอาทิตย์ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดยในปี พ.ศ. 2538 รายการได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากเวลาออกอากาศที่ยาวนานถึง 3 ชั่วโมง คือระหว่าง 15.00-18.00 น. ต่อมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2543 ไตรภพผลิตรายการ เกมเศรษฐี ซึ่งนับเป็นเกมโชว์ควิซโชว์รายการแรกของไทย พร้อมกับเป็นพิธีกรด้วยตนเอง และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในระยะแรก แต่ความนิยมกลับลดลงไปในเวลาต่อมา จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการหลายครั้ง
อนึ่ง พ.ศ. 2538 ไตรภพได้นำบริษัทของตน มาเป็นส่วนหนึ่งของ ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทอื่นๆอีก 5 แห่ง ในรวมกันเพื่อการได้รับให้เช่าคลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟและสัมปทาน จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 30 ปี โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ (ต่อมาคือ สยามอินโฟเทนเมนท์) ซึ่งตัวเขาเอง ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการรวมกันจัดตั้ง สถานีโทรทัศน์ไอทีวี อีกด้วย ราวต้นปี พ.ศ. 2539 ไตรภพเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ขณะนั้นเพิ่งก่อตั้ง แต่ยังไม่ทันเริ่มออกอากาศ ก็ต้องถอนตัวออกไปเสียก่อน เนื่องจากมีแนวคิดต่างกับผู้บริหารจากเครือเนชั่น (ซึ่งมาบริหารงานทีหลัง ไม่เกี่ยวข้องประการใด ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป็นฝ่ายแพ้การประมูลให้กับ ฝ่ายไตรภพและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับสัมปทานแล้ว) ที่ต้องการนำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์เจาะลึกเป็นหลัก ส่วนไตรภพต้องการนำเสนอรายการบันเทิงเป็นส่วนมาก จากนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2547 เมื่อ บมจ.ไอทีวี ประสบปัญหาการถือหุ้นของผู้บริหาร บจก.บอร์นฯ จึงกลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ พร้อมกับบมจ.กันตนา และไตรภพกลับมาเป็นผู้อำนวยการสถานีฯ อีกครั้ง โอกาสนี้ ไตรภพได้ย้ายรายการที่ผลิตโดย บจก.บอร์นฯ มาออกอากาศทางไอทีวีทั้งหมด จนกระทั่ง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2551 เมื่อสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ต้องสิ้นสภาพลงตามกฎหมาย จนแปลงสภาพเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในปัจจุบัน รายการทั้งหมดของ บจก.บอร์นฯ จึงยุติการออกอากาศลงด้วยเช่นกัน