ชาย เมืองสิงห์ หรือชื่อจริง สมเศียร พานทอง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2538 ชาย เมืองสิงห์ เป็นนักร้องที่มีลีลาการร้องเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และแต่งเพลงได้เหมือนน้ำตกที่ไหลพรั่งพรูจากหน้าผาไม่มีวันเหือดแห้ง เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ ชาย เมืองสิงห์ คือ “เพลงมาลัยดอกรัก”และอีกมากมายหลายเพลง นอกจากนั้นเขาก็ยังได้ประพันธ์เพลงลูกทุ่งเอาไว้ประมาณ 1,000 เพลง ซึ่งก็มีทั้งที่เอาไว้สำหรับขับร้องเองและให้ผู้อื่นร้องมากกว่า และหลายเพลงก็ติดอันดับยอดนิยม เพลงลูกทุ่งของชาย เมืองสิงห์ มีเสน่ห์และแสดงความเป็นลูกทุ่งที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ด้วยการผสมผสานเสียงดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน กลายเป็นเพลงลูกผสมพันทางที่ฟังสนุกสนานกลมกลืนได้อย่างไพเราะ ด้วยความเป็นอัจฉริยะและความรู้ความสามารถ ทำให้ได้รับการขนานนามให้เป็น “ลูกทุ่งสามสมัย” คือ คงความยอดนิยมไว้ได้ทุกยุคทุกสมัย ชาย เมืองสิงห์ ได้รับรางวัลเกียรติคุณในฐานะศิลปินดีเด่นหลายรางวัล มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับในวงการลูกทุ่งเป็นอย่างยิ่ง
ชาย เมืองสิงห์ มีชื่อจริงว่า สมเศียร พานทอง เกิดวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาชั้นประถม 4 จากโรงเรียนวัดหัวว่าว จบชั้นมัธยมปลายจากจากโรงเรียนสิงหะวัฒนพาหะ (โรงเรียนสิงห์บุรี) ในจังหวัดบ้านเกิดในปี 2499 ก่อนจะเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพฯ ในระหว่างนั้น เนื่องจากเป็นคนที่ชอบการร้องเพลง เมื่อเงินไม่พอใช้ก็จะอาศัยไปร้องเพลงเชียร์รำวง แต่เมื่อเรียนได้ถึงชั้นปีที่ 4 เขาก็ต้องเลิกเรียน เพราะทางบ้านประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก ชาย เมืองสิงห์ ที่ตัดสินใจสู้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง จึงต้องออกหางานทำ ซึ่งงานที่ว่าที่สุดยอดนักร้องลูกทุ่งเคยทำมาก็อย่างเช่นรับจ้างตากผัก เพื่อนำมาทำเป็นผักกาดกระป๋อง , กรรมกรตอกเสาเข็ม , รับจ้างเขียนป้าย และวาดรูป ต่อมาได้รับการอุปถัมภ์จาก อารมณ์ คงกะพัน ผู้กว้างขวางที่ขายของอยู่แถวตลาดพลู ที่คอยช่วยเหลือและผลักดันให้ชาย เมืองสิงห์ เข้าประกวดร้องเพลงตามที่ต่างๆ เช่น ผับ สถานบันเทิง ต่างๆ
พอถึงปี 2504 ชาย เมืองสิงห์ มีโอกาสพบกับครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงจุฬารัตน์ จึงได้ขอสมัครเป็นนักร้องในวง แต่ครูมงคลยื่นเงื่อนไขว่าจะรับเขามาร่วมวง ก็ให้ไปแหล่สดๆแข่งกับพร ภิรมย์ นักร้องดังในวงจุฬารัตน์ และนักร้องลูกทุ่งชั้นแนวหน้าของประเทศในยุคนั้น ซึ่งชาย เมืองสิงห์ ก็ฝ่าด่านหินนั้นมาได้ด้วยการมาแหล่สดๆออกอากาศโต้กับพร ภิรมย์ ซึ่งด้วยน้ำเสียงที่แปลกเป็นเอกลักษณ์ และไหวพริบปฏิภาณที่ยอดเยี่ยมทำให้เขาได้รับการชื่นชมจากแฟนเพลงที่ฟังรายการ จนครูมงคล ต้องยอมรับเขาเข้าร่วมวงตามที่ประกาศเอาไว้ รวมทั้งตั้งชื่อให้เขาว่าชาย เมืองสิงห์ ก่อนจะผลักดันให้มีโอกาสบันทึกเสียงผลงานเพลงของตัวเอง ซึ่งชาย เมืองสิงห์ ก็ไม่ได้ทำให้ใครผิดหวัง เมื่อเขามีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากคุณสมบัติที่กล่าวมาแล้ว บวกกับความสามารถด้านการแสดงหน้าเวที ขณะเดียวกัน จากหน้าตาที่หล่อเหลาไม่เบาของเขา จึงทำให้เขาได้รับฉายาว่า “อเลน เดอลอง เมืองไทย” ต่อมา คณะตลกเมืองไทยก็ตั้งฉายาให้เขาว่า “ แมน ซิตี้ไลอ้อน “ ตามชื่อที่ถอดความมาจากภาษาอังกฤษ และฉายานี้ก็ยิ่งทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากขึ้นไปอีก แม้ในกลุ่มคนที่ไม่ฟังเพลงในแนวของเขา
ชาย เมืองสิงห์ อยู่กับวงจุฬารัตน์ 5 ปี พอถึงปี 2510 ก็ออกมารับงานร้องเพลงทั่วไปเอง ในปีต่อมาก็ตั้งวงดนตรีเล็กๆชื่อ “วงหลังเขาประยุกต์ “ ต่อมาขยายวงและเปลี่ยนชื่อเป็น “ จุฬาทิพย์ “ เพื่อรำลึกถึงวงที่ทำให้เขาโด่งดัง ซึ่งในช่วงที่ทำวงนี้ ชาย เมืองสิงห์ ได้ปลุกปั้นให้ลูกวงของเขาโด่งดังขึ้นมาในระดับแนวหน้าในภายหลังหลายคน เช่น โชคดี พักภู่ , เพชร โพธิ์ทอง , ระพิน ภูไท , ดี๋ ดอกมะดัน , ดู๋ ดอกกระโดน , สีหนุ่ม เชิญยิ้ม , หนุ่ม เมืองไพร , ดาวไทย ยืนยง , ถนอม จันทรเกตุ
ชาย เมืองสิงห์ ทำวงอยู่ 10 ปี ก็ยุบวงไป เพราะมรสุมชีวิต ทั้งปัญหาครอบครัว และพ่อแม่เสียชีวิต เขาจึงห่างหายจากวงการเพลงไปนาน เมื่อผันตัวไปเป็นเกษตรกรทำไร่นาสวนผสมที่บ้านเกิดนานถึง 10 ปี จนได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นของจังหวัด ต่อมาเมื่อมีการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ 1 ในปี 2532 ชาย เมืองสิงห์ ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีถึง 4 รางวัล ชาย เมืองสิงห์จึงกลับเข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งไทยอีกครั้ง โดยมีการนำเอาทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่มาบันทึกเสียงจวบจนถึงทุกวันนี้
ในปลายปี 2557 ชาย เมืองสิงห์ ได้สร้างความฮือฮาเมื่อได้นำเอาเพลง “เมียพี่มีชู้” หนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดของตัวเอง มาเรียบเรียงและขับร้องใหม่เป็นดนตรีลูกทุ่งร่วมสมัยมากขึ้น ในสังกัดอาร์สยาม ในเครือของอาร์เอส โดยมีนักร้องลูกทุ่งร่วมสมัยมาร่วมร้องด้วย คือ จ๊ะ อาร์สยาม และใบเตย อาร์สยาม